เครือข่ายลดผลกระทบน้ำเมา ชี้แก้ กม.โฆษณาแอลกอฮอล์ ยิ่งเอื้อทุนใหญ่ ทำเข้าถึงง่าย

เครือข่ายลดผลกระทบน้ำเมา ชี้แก้ กม.โฆษณาแอลกอฮอล์ ยิ่งเอื้อทุนใหญ่ ทำเข้าถึงง่าย

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวว่า กรณีที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 โพสต์ภาพและคลิปคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านโซเชียลมีเดีย นั้น ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีอนุกรรมการวินิจฉัยเป็นระบบอยู่แล้วว่าครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ส่วนในมุมของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสังคม โดยเฉพาะเรื่องการลดผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสินค้าที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีความเสี่ยงที่จะก่อโรคและความเจ็บป่วยถึง 230 โรค เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกกว่า 3.3 ล้านคนต่อปี เฉพาะคนไทยพบว่ามีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 43,000 คน นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวร้อยละ 24.7 เด็กและเยาวชนร้อยละ 40.8 โดยพบว่ามีการก่อเหตุระหว่างดื่ม หรือภายใน 5 ชั่วโมงหลังการดื่ม อีกทั้งยังเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนร้อยละ 25-30

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบสูงสุดเมื่อเทียบกับสารเสพติดอื่น และส่งผลกระทบต่อผู้อื่นมากกว่าผู้ดื่ม การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นการจำกัดสิทธิบางประการของผู้ขายและผู้ดื่ม เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม” นายธีรภัทร์ กล่าวและว่า องค์การอนามัยโลก และนักวิชาการทั่วโลก ยืนยันว่า การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทย จึงมีการกำหนดเอาไว้ในมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใด โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะโฆษณาเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการโฆษณาเชิญชวนโดยเฉพาะที่กระทำโดยบุคคลสาธารณะ ผู้มีชื่อเสียง ย่อมมีผลต่อการเลือกที่จะดื่มหรือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน

Advertisement

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เห็นได้ชัดจากกรณีการลองดื่มโซจูของเยาวชนไทยที่มากขึ้น ก็มีอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลี ที่มีการเผยแพร่การดื่มโซจูอยู่เสมอ ดังนั้น การควบคุมโฆษณาจึงเป็นมาตรการสำคัญ

“แน่นอนว่า ทุกนโยบายที่เกี่ยวกับการควบคุมอาจกระทบสิทธิส่วนบุคคลบางประการของผู้ขาย และผู้ดื่ม แต่นั่นก็เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของทุกคนในสังคมซึ่งเป็นหลักการสากล การเสนอแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อยกเลิกมาตรการควบคุมการโฆษณานั้น คำถามสำคัญคือ การทำให้รายเล็กโฆษณาได้ แต่รายใหญ่ที่มีสัดส่วนครองตลาดกว่าถึงร้อยละ 95 ทุนใหญ่กว่า ก็ย่อมทำการโฆษณา ทำตลาดได้มากกว่าด้วย ส่วนที่บอกว่าลดทุนผูกขาดมันคืออะไรกันแน่ สุดท้ายก็เข้าทางทุนใหญ่ และนโยบายให้ขายได้ 24 ชั่วโมง ก็เช่นเดียวกัน สุดท้ายทุนใหญ่ก็ได้ประโยชน์ไปด้วยอยู่ดี จริงๆ ยังมีเรื่องที่ควรทำอีกมากมายที่จะจัดการกับความฉ้อฉลของทุนเหล้าขาใหญ่เช่น การห้ามใช้ตราเสมือนมาโฆษณา เป็นต้น” นายธีรภัทร์ กล่าว

Advertisement

ด้าน รศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่า การได้รับสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งรูปแบบดั้งเดิมและออนไลน์ส่งผลให้มีการดื่มและการดื่มหนักมากขึ้น เช่น ผลการวิจัยในประเทศไทยเรื่อง ”Association between Self-Reported Exposure to Alcohol Advertisements and Drinking Behaviors: An Analysis of a Population-Based Survey in Thailand” พบว่า การได้รับสื่อโฆษณาเพิ่มโอกาสในการดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นร้อยละ 16 และการดื่มหนักขึ้นร้อยละ 35-51 นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในกลุ่มนักเรียน 9,709 คน จากประเทศเยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ พบว่า การได้รับสื่อแอลกอฮอล์ทางออนไลน์เพิ่มโอกาสในการเริ่มดื่มขึ้นร้อยละ 26 และการดื่มหนักขึ้นร้อยละ 24

“นอกจากนี้ ยังมีข้อสรุปจากการทบทวนการศึกษา 25 เรื่อง ว่า การมีส่วนร่วมกับสื่อแอลกอฮอล์ออนไลน์ เช่น การคลิก การกดไลค์ การแชร์เนื้อหา มีความสัมพันธ์กับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น การจำกัดการเข้าถึงสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ จึงเป็นมาตรการที่สามารถช่วยลดการดื่มและการดื่มแบบความเสี่ยงสูง (ดื่มหนัก) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผลกระทบเชิงลบลงได้ ดังนั้นการควบคุมการโฆษณาจึงเป็นมาตรการสำคัญที่มาถูกทาง ส่วนอาจจะมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น แล้วถ้าจะแก้ไขกฎหมายก็ต้องไม่ทำให้อ่อนแอลงหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ” รศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image