กก.มรดกโลก กังวล ป่าแก่งกระจาน มีสถานภาพการอนุรักษ์ไม่ชัดเจน ให้ทำเอกสารชี้แจงภายใน1ธ.ค.67

กก.มรดกโลก กังวล ป่าแก่งกระจาน มีสถานภาพการอนุรักษ์ที่ไม่ชัดเจน ให้ทำเอกสารชี้แจงภายใน 1 ธ.ค.67

วันที่ 19 สิงหาคม ที่ ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่เมืองริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้ กรมอุทยานฯมีวาระชี้แจงต่อ คณะกรรมการมรดกโลก เรื่อง สถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศแล้ว คือ กลุ่มป่าแก่งกระจาน

มติชนออนไลน์ รายงานว่า คณะกรรมการมรดกโลก แสดงความห่วงกังวลสูงสุดเกี่ยวกับการการสร้างเขื่อนภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำชีบริเวณที่ติดกับพื้นที่มรดกโลก และในพื้นที่นำเสนอแรกเริ่ม ในฐานะส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกและความสำคัญของความสมบูรณ์ของแหล่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล(OUV) ของแหล่งมรดกโลก และอาจทำให้ความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ยากเพิ่มขึ้นไปอีก และขอให้รัฐภาคี แจ้งศูนย์มรดกโลกถึงสถานภาพของโครงการที่เสนอก่อนการตัดสินใจใดๆที่อาจจะยากในการย้อนกลับ และมั่นใจว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่เป็นไปได้ ได้รับการประเมินตามแนวทางและชุดเครื่องมือสำหรับการประเมินผลกระทบในบริเวณแหล่งมรดกโลก รวมถึงพิจารณาทางเลือกในการไม่มีโครงการด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการมรดกโลก ยังกังวลเรื่องสถานภาพการอนุรักษ์ที่ไม่ชัดเจนของป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีและพื้นที่สงวนของกองทัพ ซึ่งเป็นแนวทางเชื่อมต่อทางระบบนิเวศที่สำคัญอย่างยิ่ง ระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานภายในพื้นที่มรดกโลก และร้องขอให้รัฐภาคี แจ้งศูนย์มรดกโลก เกี่ยวกับสถานภาพ การปกป้องพื้นที่ และระบบจัดการสำหรับเชื่อมต่อดังกล่าว และเพื่อรวมสถานภาพการปกป้องพื้นที่ และระบบการจัดการที่เสนอในเอกสารนำเสนอ รวมถึงความเป็นไปได้ในการรวมพื้นที่เข้าไปอยู่ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ถือครองสิทธิทั้งหมด

Advertisement

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการมรดกโลกขอให้ประเทศไทย ส่งรายงานเป็นเอกสารที่เป็นปัจจุบันภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาในคราวการประชุมครั้งที่ 47

ทั้งนี้ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้น เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร

ซึ่งการที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ มีประโยชน์หลัก ๆ อีกด้วย เช่น 1) ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาวิจัยในระดับสากล 2) ยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้คงคุณค่าของแหล่ง เพื่อส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น 3) ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน และ 4) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนมรดกโลกได้

Advertisement

โดยก่อนหน้านี้ ทส. ระบุว่า พร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างสมดุลในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้ง ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสอดคล้องกับกฎหมาย นโยบาย มติ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ไทยจะรักษาแหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ให้คงไว้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image