ปลัด สธ.เผยเหตุไหม้คอนเทนเนอร์ท่าเรือแหลมฉบัง อพยพ 183 คน เจ็บ 6 ราย เฝ้าระวังชุมชนรัศมี 5 กม.

ปลัด สธ.เผยเหตุไหม้คอนเทนเนอร์ท่าเรือแหลมฉบัง อพยพ 183 คน เจ็บ 6 ราย เฝ้าระวังชุมชนรัศมี 5 กม.

วันนี้ (29 สิงหาคม 2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ภายในคลังสินค้า ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ว่า ได้รับรายงานจาก นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 6 ว่า ช่วงเวลา 10.00 น.ของวันเดียวกันนี้ เกิดเหตุเพลิงไหม้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 9 ตัน บริเวณลานสินค้าอันตราย JWD ภายในท่าเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งภายในตู้คอนเทนเนอร์มีสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารกัดกร่อน บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ จำนวน 378 กล่อง กล่องละ 18 กิโลกรัม ทำให้บริเวณโดยรอบมีกลิ่นฉุนรุนแรง ทีมดับเพลิงได้ฉีดน้ำเพื่อควบคุมไอระเหยไม่ให้กระทบไปยังพื้นที่บริเวณกว้างและสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว

“เบื้องต้น บริษัทได้อพยพพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 183 ราย พบมีอาการระบบทางเดินหายใจ 6 ราย ทีมแพทย์ได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในที่เกิดเหตุ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชนใกล้เคียงแล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ปลัด สธ. กล่าวต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ยังได้คัดกรองพนักงานที่ได้รับผลกระทบบริเวณหอสังเกตการณ์ จำนวน 54 ราย บริเวณลานจอดรถโตโยต้า จำนวน 23 ราย ไม่พบผู้มีอาการผิดปกติ ส่วนการคัดกรองบริเวณชุมชนโดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตร ยังไม่พบผู้ได้รับผลกระทบเช่นกัน เจ้าหน้าที่ได้แจกหน้ากาก N95 ให้กับผู้ปฏิบัติงาน 100 ชิ้น และประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุประจำชุมชนให้ประชาชนในละแวกใกล้เคียงสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งผู้นำชุมชน หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อส่งต่อเข้าพบแพทย์โรงพยาบาล (รพ.) แหลมฉบัง ทันที

“เนื่องจากสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์มีคุณสมบัติกัดกร่อน หากสัมผัสต้องรีบล้างด้วยน้ำและสบู่ ถ้าเข้าตาต้องล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ในทันที กรณีที่เผลอรับประทานเข้าไป ควรดื่มนมหรือน้ำแล้วรีบไปพบแพทย์ หรือหากหายใจเอาฝุ่นหรือละอองเข้าไปต้องรีบไปพบแพทย์ทันที” นพ.โอภาส กล่าวและว่า สำหรับคำแนะนำในการจัดเก็บสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ให้ปลอดภัย โดยเฉพาะการเก็บในปริมาณมากๆ ต้องเก็บในอาคารที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ สร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นชนิดป้องกันการระเบิด, แยกเป็นเอกเทศห่างจากแหล่งที่อยู่อาศัย, มีการตรวจสอบระบบควบคุมการทำงานของเครื่องทำความเย็นห้องเก็บและระบบสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพใช้งานได้เสมอ และพนักงานควรมีการฝึกอบรมให้สามารถแก้ไขได้ทันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image