สภาผู้บริโภคลุยตรวจสอบโครงการตึกสูง 3 ชุมชน ส่อผิด กม.ควบคุมอาคาร

สภาผู้บริโภคลุยตรวจสอบโครงการตึกสูง 3 ชุมชน ส่อผิด กม.ควบคุมอาคาร

วันนี้ (30 สิงหาคม 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) หรือ สภาผู้บริโภค พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เขต เจ้าหน้าที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่สำรวจ 3 ชุมชน กลางกรุงเทพมหานคร หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้อาศัยรอบข้างได้รับความเดือดร้อนจากโครงการอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งประกอบด้วยชุมชนโครงการเอส – ประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ ซอย 23) โครงการเอส – รัชดา (รัชดา ซอย 44) และ โครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) โดยทั้ง 3 โครงการ เป็นคอนโดมิเนียมแบบโลว์ไรส์ (Low Rise) คือ คอนโดฯ ที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร หรือคอนโดฯ ที่มีความสูงประมาณ 8 – 9 ชั้น สร้างในซอยแคบ ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความปลอดภัยของผู้คนในชุมชนดั้งเดิม

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า จากข้อมูลการร้องเรียนทั้ง 3 ชุมชน และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ สอบ. พบว่า ทั้ง 3 โครงการมีปัญหาที่ส่อจะผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 เนื่องจากหลายจุดระยะถนนไม่ถึง 6 เมตร รวมไปถึงข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของชุมชนอาจจะถูกละเมิดได้ ดังนั้น สอบ.จึงเชิญเจ้าหน้าที่เขต กทม. และสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน ก่อนจะมีการอนุมัติโครงการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าจากข้อเท็จจริงของทั้ง 3 ชุมชน นิยามเขตการทางตามกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของระยะถนนที่ชุมชนใช้ชีวิตอยู่จริง จึงเห็นว่า ควรพิจารณาแก้ไขคำนิยามดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

Advertisement

นายทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – ประดิพัทธ์ กล่าวว่า สิทธิผู้บริโภคโดยพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญว่า ผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและยังชีพได้อย่างปลอดภัย และสิ่งใดที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้บริโภคต้องปกป้องสิทธิของตนเอง เช่น การมีคอนโดฯ สูงมาสร้างติดหลังบ้าน จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่

“การมีตึกสูงอยู่หลังบ้าน จะบังแดดบังลมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งยังมี ปัญหาที่จอดในคอนโดฯ ไม่เพียงพอ หากมีรถจอดสองข้างทางมากจนเกินไป หากเกิดไฟไหม้รถดับเพลิงและรถพยาบาลไม่สามารถสัญจรเข้าได้ และระหว่างก่อสร้างจะก่อให้เกิดมลพิษทางฝุ่น เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคต้องตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนและลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง” นายทิววัฒน์ กล่าว

Advertisement

ด้านตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่ทราบรายละเอียดของโครงการ ส่วนตัวดีใจเห็นว่าเจ้าของโครงการมีวิสัยทัศน์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่เมื่อโครงการเข้ามาเริ่มมีการตัดต้นไม้จนหมด กระทบสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่เดิมของผู้สูงอายุในชุมชนที่ควรได้รับอากาศบริสุทธิ์ แต่กลับต้องได้ผลกระทบด้านฝุ่น เสียง ที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงพื้นดินจะถูกเปลี่ยนเป็นซีเมนต์ เมื่อฝนตกน้ำจะไม่ไหลลงดิน เกิดปัญหาน้ำท่วมมากกว่าเดิม และปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ จึงฝากถึงหน่วยงานที่มีอำนาจในการอนุมัติ ควรตรวจสอบให้มากกว่านี้

ขณะที่ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – รัชดา (รัชดาซอย 44) กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่เป็นซอยดั้งเดิม เมื่อจัดสรรที่ดิน จึงทำให้ถนนค่อนข้างแคบกว่าที่อื่น และในซอยไม่เคยมีคอนโดฯ กว่า 530 ยูนิต จึงเป็นกังวลเรื่องการจราจร น้ำท่วม และหากเกิดอัคคีภัยรถดับเพลิงจะไม่สามารถเข้าถึง

ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ได้กำหนดให้ทางสาธารณะที่สถานที่ก่อสร้างอาคารสูงระดับนี้ตั้งอยู่ จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร และยาวต่อเนื่องไปถึงทางสาธารณะที่
กว้างกว่า โดยในข้อ 5 ของขอบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดคำนิยาม “เขตทาง” หมายความว่า ความกว้างรวมของทางระหว่างแนวที่ดินทั้งสองด้าน ซึ่งรวมความกว้างของผิวจราจร ทางเท้า ที่ว่างสำหรับปลูกต้นไม้ คูน้ำ และอื่นๆ เข้าด้วย เพราะคำนิยามของคำว่า เขตทาง ที่ครอบคลุมความกว้างรวมของทางระหว่างแนวที่ดินทั้งสองด้าน แต่ไม่ใช่พื้นที่ถนนที่รถสามารถสัญจรสวนทางกันได้ ส่วน “ถนนสาธารณะ” หมายความว่า ทางสาธารณะที่ยวดยานผ่านได้ ขณะที่ “ทางสาธารณะ ” หมายความว่า ที่ดินที่ประชาชนมีสิทธิใช้เป็นทางคมนาคมได้ ที่ไม่ใช่ทางส่วนบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาการก่อสร้างตึกสูงในซอยแคบเรื่องการสัญจร และส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของชุมชนเดิมได้

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ สอบ. และตัวแทนชุมชนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและรังวัดจริง ใน 2 วิธี คือ 1. รังวัดตามคำนิยามของเขตทางคือวัดระยะถนนจากกำแพงด้านหนึ่งชนกับอีกด้านหนึ่ง 2.รังวัดตามข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิต และการสัญจรจากพื้นผิวถนน ซึ่งสอดคล้องกับนิยามของถนนสาธารณะเป็นหลัก ซึ่งพบว่าทั้ง 3 โครงการ ระยะห่างของถนนจากการวัดพื้นผิวถนนไม่ถึง 6 เมตร

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image