“หมอศิริราช” ฝากถึง “รุ่นน้อง” รมว.สธ.คนใหม่ ถอดชนวน 30 บาท ทำระบบประกันสุขภาพเสมอภาค

“หมอศิริราช” ฝากถึง “รุ่นน้อง” รมว.สธ.คนใหม่ ถอดชนวน 30 บาท ทำระบบประกันสุขภาพเสมอภาค

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนจดหมายเปิดผนึกผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีความชัดเจนว่าเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลชุดใหม่ (เศรษฐา 1) โดยจดหมายดังกล่าวเป็นการเขียนถึงศิษย์รุ่นน้องร่วมบ้านริมน้ำ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ได้ติดตามและชื่นชมผลงานของน้องในทางการเมือง และยินดีที่น้องกำลังจะก้าวขึ้นคุม สธ.หลังจากยอมลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไม่ให้คนตราหน้าว่าตระบัดสัตย์ เพราะพูดอย่าง ทำอย่าง มีเรื่องที่อยากฝากก่อนเข้ารับภารกิจสำคัญ ดังนี้

นโยบาย 30 บาท (บัตรทอง) เป็นสิ่งเดียวที่เห็นชอบเป็นอย่างยิ่งกับพรรคการเมืองที่น้องเคยร่วมงานมากว่า 20 ปี แต่ในระยะหลังถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรก ทำให้นโยบายประชานิยมเข้ามานำหน้าหัวใจหลักของความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมกับทรัพยากรสุขภาพของประเทศ การนำเสนอสิทธิประโยชน์มากมายโดยไปสร้างความตึงเครียดหน้างาน และความตึงตัวด้านงบประมาณของโรงพยาบาลในระบบ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีทัศนคติด้านลบต่อนโยบาย 30 บาท ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับการดำเนินนโยบายนี้ให้พอเพียงและยั่งยืนในระยะยาว จึงอยากเห็นการเข้าไปถอดชนวนระเบิดลูกนี้ และถ้าเป็นได้อยากเห็น สธ.เป็นผู้ชี้นำสังคม เพื่อขับเคลื่อนการมีระบบประกันสุขภาพเดียวให้กับประชาชนไทยทุกคนอย่างเสมอภาค หรือ รวมกองทุน 30 บาท กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม เข้าด้วยกัน และบริหารอย่างโปร่งใส ยึดโยงกับผลประโยชน์ประชาชน และอย่างมีสำนึกในการใช้ทรัพยากรสุขภาพที่สมเหตุสมผลตามหลักวิชาการและหลักความเท่าเทียม

นอกจากนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า ในฐานะแพทย์รักษาโรคปอด ฝากอีก 3 เรื่อง คือ 1.เร่งรัดปฏิรูประบบควบคุมวัณโรคแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันมีความลักลั่นของหน่วยงานย่อยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย โดยขาดส่วนนำที่มีความมุ่งมั่นในเชิงนโยบาย (political commitment) ที่จะนำพาประเทศไปสู่การควบคุมวัณโรคให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในปี 2578 ตามยุทธศาสตร์ END TB ขององค์การอนามัยโลก

Advertisement

2.แสดงบทบาทการเป็นผู้นำในการควบคุมสารพิษและมลพิษในอากาศที่คนหายใจเข้าไป เริ่มจากควันบุหรี่มวน ที่ทำให้เกิดโรคมากมายต่อมนุษย์ บุหรี่ไฟฟ้าที่เริ่มแสดงตัวให้เห็นว่าร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่าบุหรี่มวน แต่ถูกตกแต่งให้รูปลักษณ์ดูซอฟท์ลง ควันจากการสูบกัญชา รวมถึงการเสพหรือบริโภคในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ทางการแพทย์ หากร่างกายได้รับเกินขนาดจะเป็นผลร้ายต่อระบบประสาท ระบบการหายใจ และอวัยวะสำคัญอื่นทั่วร่างกาย ท้ายสุดคือ มลพิษในอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด เพื่อจะได้มีหน่วยงานอิสระขับเคลื่อนการควบคุมแหล่งผลิตมลพิษพร้อมประทังการสูญเสียต่อสุขภาพและเศรษฐกิจในระหว่างมาตรการควบคุมยังไม่เห็นผลเต็มร้อย

3.แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า นโยบายสุราเสรี ต้องเป็นไปเพื่อตัดตอนนายทุนที่ผูกขาดการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในบ้านเมืองนี้ แต่ต้องไม่ส่งเสริมให้คนเข้าถึงสุราโดยง่าย และต้องปกป้องเยาวชนจากสิ่งมอมเมาสมอง เมื่อเหล้าเข้าปากจนเกินขนาดแล้ว ปอดอาจอักเสบจากการสูดสำลัก และอาจช้ำหรือถึงขั้นฉีกขาดหากเกิดอุบัติเหตุจากยานพาหนะ รวมทั้งทำให้ภูมิต้านทานในปอดลดลงจนเกิดปอดอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย และวัณโรคปอดได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image