องค์การเภสัชฯ จ่อขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ผลิตเองในไทย คาดเริ่มปักเข็มต้นปี’67

องค์การเภสัชฯ จ่อขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ผลิตเองในไทย คาดเริ่มปักเข็มต้นปี’67

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศไทย ว่า วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในขณะนี้คือ วัคซีนที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือ HXP GPOVac ที่ทำการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 รูปแบบเข็มกระตุ้น ขนาด 10 ไมโครกรัม ฉีดในกลุ่มอาสาสมัคร 4,000 คน ที่ จ.นครพนม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลจะออกมาประมาณกลางเดือนกันยายนนี้

“หากผลเป็นที่น่าพอใจ มีประสิทธิภาพดี ขั้นตอนต่อไปทาง อภ.จะยื่นขอขึ้นทะเบียนใช้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากนั้น หากกระบวนการเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตวัคซีน เบื้องต้นกำลังการผลิต อยู่ที่ 5-10 ล้านโดสต่อปี จึงคาดว่าจะเริ่มให้บริการกับประชาชนเป็นเข็มกระตุ้นได้ในต้นปี 2567 หากวัคซีนโควิด-19 ของ อภ.ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว สามารถนำไปพัฒนาเป็นวัคซีนโควิด-19 รุ่น 2 ที่ครอบคลุมเชื้อกลายพันธุ์ที่มากขึ้น ซึ่งอาจพัฒนาให้ครอบคลุมโควิด-19 ที่มาจากเชื้อ XBB ด้วย” นพ.นคร กล่าว

Advertisement

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 HXP GPOVac เป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่ทำด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ทำมากว่า 60 ปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เชื้อโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ที่เป็นสายพันธุ์เดิม ยังคงช่วยในการลดความรุนแรงของโรคได้

“โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วม ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี ทุกวันนี้ ยังมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ โดยเฉพาะรายที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นน้อยกว่าคนทั่วไป หากฉีดวัคซีนกระตุ้นก็จะช่วยได้มาก” นพ.นคร กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image