ฝากการบ้าน ‘วราวุธ’ รมว.พม. คนใหม่ เผือกร้อน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’

ฝากการบ้าน ‘วราวุธ’ รมว.พม. คนใหม่ เผือกร้อน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’

นับเป็นความท้าทายของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เข้ามารับไม้ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ขับเคลื่อนประเทศต่อจากนี้ไป

ฟากงานด้านสังคมก็ได้ “วราวุธ ศิลปอาชา” จากพรรคชาติไทยพัฒนา นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลงานเด็กเยาวชน สตรีและสถาบันครอบครัว รวมไปถึงงานคนพิการ ผู้สูงอายุ การค้ามนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศ และอีกมากมาย ไม่ว่าจะโรงรับจำนำรัฐบาล การเคหะแห่งชาติ

Advertisement

ในด้าน “ผู้สูงอายุ” ที่เพิ่งมีประเด็นดราม่าเรื่อง “การตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ไปนั้น ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอฝากการบ้านเรื่องนี้กับ รมว.พม.ป้ายแดง โดยว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีวิสัยทัศน์ที่แหลมคมในการนำเสนอนโยบายหาเสียงภายใต้แนวคิด ‘WOW Thailand’ คือ ความมั่งคั่ง (Wealth) สร้างโอกาสให้เกิดความเท่าเทียม (Opportunity) และสวัสดิการถ้วนหน้า (Welfare for All) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

โดยพรรคชาติไทยพัฒนามีนโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.มีนโยบายขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี เพื่อสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง โดยอาจไม่จำเป็นต้องทำงานเต็มเวลา ซึ่งจะมีการลดภาษีให้ 3 แสนบาทแรก 2.สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุอีกกว่า 3 หมื่นคน

Advertisement

นอกจากนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาได้เสนอนโยบายแหล่งรายได้อันแหลมคมและสอดคล้องกับแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก จากหลายเวทีแลกเปลี่ยนนโยบายกับพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 2 เรื่อง ‘ตอบโจทย์ประชาชน : พรรคการเมืองกับนโยบายสวัสดิการ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’

โดยพรรคชาติไทยพัฒนาเสนอให้มีแหล่งงบประมาณสำหรับข้อเสนอทำสวัสดิการที่ใช้หาเสียง แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ 1.ปฏิรูประบบงบประมาณ ตัดงบที่ไม่จำเป็นแล้วมาเติมสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ 2.ปฏิรูประบบภาษี จัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

“ผมขออนุญาตเรียนเพิ่มเติมอีกแหล่งรายได้สำคัญ คือ การออม ซึ่งจำเป็นต้องสร้างระบบที่บังคับหรือจูงใจให้ ทุกคนในวัยทำงานต้องรับผิดชอบออมเงินตามกำลัง แหล่งเงินมาจากเงินออม ของประชาชนที่สมทบเพิ่มจากระดับความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขั้นต่ำ 2,000 บาท/เดือน สามารถกำหนดให้ไม่รวมข้าราชการบำนาญหรือผู้ที่ได้บำนาญรัฐจากระบบอื่นเพื่อแก้ปัญหาซ้ำซ้อน แล้วแต่ละคนสามารถออมเพิ่มขึ้นไปที่ตรงกลางของสังคมไทย คือ 6,000 บาท/เดือน

“โดยให้ออมสะสมตั้งแต่วัยทำงานและรัฐบาลร่วมสมทบเงินในสัดส่วนเดียวกัน งานวิจัยเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติของผู้เขียน ได้คำนวณ sensitivity analysis ภายใต้ฉากทัศน์ต่างๆ พบว่า จะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐในระยะยาว ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการอย่างน่ากังวลมาก”

“แนวทางต่างๆ ข้างต้น สอดคล้องต้องกับ แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) เช่น กำหนดให้มีการผลักดันทางกฎหมาย, ปฏิรูประบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นระบบการออมภาคบังคับ, และปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้รัฐมีรายได้ที่พอเพียงเพื่อใช้ในการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของผู้ที่เป็นฐานภาษีหรืออยู่ในวัยทำงานมากจนเกินไป”

ประเด็นดังกล่าว ยังสอดคล้องกับรายงานเรื่อง “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับความเห็นชอบเป็นฉันทามติจากสภาเมื่อปีที่ผ่านมา ระบุเป้าหมายระดับการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุที่เส้นความยากจน กำหนดแหล่งรายได้สำหรับงบประมาณ ตลอดจนข้อเสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่งจะเป็นไปและได้รับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคม โดยรัฐพยายามอธิบายว่า เพื่อคัดกรองคนรวยออก ทั้งที่ปัญหาเรื่องนี้อยู่ตรงการคัดกรองคนจน ยิ่งไปกว่านั้น ยังโยนให้เป็นภาระการพิจารณาต่อไปของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

“รัฐมนตรี พม. น่าจะต้องเป็นผู้รับเผือกร้อนนี้ไปดำเนินการต่อตามเหมาะสม ในฐานะรองประธานกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ คนที่หนึ่ง และเป็นผู้รับผิดชอบการคุ้มครองความมั่นคงในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะทำให้ประเทศเดินถอยหลังเรื่องความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุหรือจะวางรากฐานที่มั่นคงให้กับอนาคต”

“ขอเป็นอีกกำลังใจให้รัฐบาลและกระทรวง พม. สามารถทำได้สำเร็จ ทั้งนโยบายที่หาเสียงไว้ และสามารถช่วยวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับอนาคตระบบบำนาญแห่งชาติของประเทศ แน่นอนว่า การบุกเบิกริเริ่มสิ่งใหม่ เป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ก็จะเป็นประโยชน์คุณูปการอย่างมหาศาลสำหรับคนไทย เหมือนการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มาจากหลักการ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต้องคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง เช่น การมีแหล่งรายได้จากการปรับเพิ่มภาษีในลักษณะที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปในตัวด้วย และความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ ลดความซ้ำซ้อนและป้องกันปัญหาคนจนตกหล่นไปพร้อมๆ กัน”

“โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับสวัสดิการระหว่างหน่วยงาน และปรับปรุงคุณภาพฐานข้อมูล”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image