16 สภาองค์การลูกจ้าง 8 สหภาพ ร่วมถก “พิพัฒน์” นัดแรก ย้ำ!ค่าแรงรอฟังนายกฯ 11 ก.ย.นี้

16 สภาองค์การลูกจ้าง 8 สหภาพ ร่วมถก “พิพัฒน์” นัดแรก ย้ำ!ค่าแรงรอฟังนายกฯ 11 ก.ย.นี้

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 8 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาด้านแรงงานกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเป็นการประชุมร่วมกับประธานสภาองค์การลูกจ้าง 16 สภา แต่มาเพียง 15 สภา เนื่องจากผู้นำสภาลูกจ้างแห่งชาติ ไม่สบาย และประธานสหภาพแรงงาน 8 สหภาพ นัดแรก นอกจากนี้ มีผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำ นำโดย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อีกทั้งมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ และนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมประชุมร่วมกันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง

นายพิพัฒน์ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า วันนี้ตนได้เชิญ 16 สภาลูกจ้าง มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยคาดว่าหลังจากที่รัฐบาลมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ เพื่อประกาศทิศทางนโยบายแรงงานไทย จากนั้นก็จะมีการหารือกันอีกครั้ง จากการประชุมวันนี้ ตนได้รับความเห็นจากสภาแรงงานหลายอย่าง ยืนยันว่าสิ่งที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทำไว้ดีแล้ว ตนจะสานต่อไป ไม่นับหนึ่งใหม่ ทั้งนี้ ตนได้แจ้งกับสภาลูกจ้างว่า กระทรวงแรงงานจะต้องยกระดับเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เพราะทุกองคาพยพของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน กระทรวงแรงงานจึงเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม จากการหารือวันนี้ก็พบปัญหาของลูกจ้างในประเด็นคล้ายเดิม เช่น การเข้าร่วมในอนุสัญญาไอแอลโอ (ILO) ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ซึ่งมีข้อเสนอให้รัฐบาล กระทรวงแรงงานพิจารณาเข้าร่วมด้วย

Advertisement

“เท่าที่ผมทราบคือ ในอาเซียนเหลือแค่ประเทศไทย และ สปป.ลาว ที่ยังไม่เข้าร่วม และเรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะต้องเข้าไปดูทุกมิติ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค ประเทศจะเจริญหรือพัฒนาได้ แรงงานเป็นส่วนสำคัญที่สุด หากไม่มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน การจะพัฒนาประเทศให้เร็วไปกว่านี้ ก็จะเป็นไปได้ยาก ส่วนเรื่องค่าแรงนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ประกาศให้เรียบร้อย เราจึงจะหารือกันว่า จะทำอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายต่างๆ ที่ได้หาเสียงกันก่อนเลือกตั้ง” นายพิพัฒน์ กล่าวและว่า สิ่งสำคัญคือ การทำงานร่วมกัน เดินหน้าไปพร้อมกัน หากฝ่ายข้าราชการประจำที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ไม่ช่วยเหลือตนในฝ่ายการเมือง เป็นไปไม่ได้ที่พวกตนจะสามารถเดินหน้าได้ เพราะกำลังหลักสำคัญคือ ข้าราชการในกระทรวงแรงงาน

Advertisement

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า หากมีนโยบายใดที่จะขับเคลื่อนกระทรวงแรงงาน ก็จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากข้าราชการและสภาลูกจ้างทั้งหมด ทุกสิ่งจึงต้องเดินไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายใดที่ค้างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ตนก็จะพยายามทำให้สำเร็จ แต่ขอเวลาให้ตนได้เข้ามาทำงานเต็มรูปแบบ 100% ภายหลังจากที่มีการแถลงนโยบาย

“เนื่องจากนายกฯ ได้แจ้งไว้ว่า ขอให้เจ้ากระทรวงทุกกระทรวง อย่าเพิ่งลงนามในเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่ายังไม่ได้แถลงนโยบายจากรัฐบาล จึงถือว่ายังไม่ได้เต็มรูปแบบ 100% จึงขอให้มีการแถลงนโยบายให้เรียบร้อยก่อน” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image