อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ‘หมอชลน่าน’ ลุยนโยบายดูแลปัญหาจิตใจคนไทย เชื่อ เห็นเป็นรูปธรรมได้เร็ว

เมื่อวันที่ 9 กันยายน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. และผู้บริหารสธ. เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า  เป็นการประชุมเพื่อเตรียมเรื่องนโยบายด้านสาธารณสุข ท่าน รมว. ให้ความสำคัญในทุกนโยบาย ขณะเดียวกันตัวนโยบายเองก็มีความทันสมัยและเกิดจากความต้องการของประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีนโยบายด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก จะเห็นได้จากสถานการณ์ 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังการระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชรวมถึงการใช้สารเสพติดจะมาแรงขึ้น

พญ.อัมพร กล่าวว่า ตนมั่นใจว่า รมว. เห็นสิ่งนี้จึงให้ความสำคัญเรื่องนี้มากจนเกิดเป็นนโยบายหลักที่มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์และตรงกับความต้องการของประชาชน รวมถึงหลายๆ เรื่องก็จะเข้ามาช่วยเสริมนโยบายของปลัดสธ. อย่างเช่นการมีหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง แต่ในบางแห่งที่ติดขัดเรื่องจำนวนจิตแพทย์และบุคลากร ก็เชื่อว่านโยบายของรัฐบาลก็น่าจะเข้ามาส่งเสริมให้เกิดจำนวนจิตแพทย์และการกระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น นพ.ชลน่าน ก็สนับสนุนให้เกิดจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล จึงคาดว่านโยบายนี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“ท่าน รมว.ได้สนับสนุนเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเอไอ(AI) แอพพลิเคชั่นสำเร็จรูปต่างๆ เข้ามาเติมเต็มช่องว่าง ดังนั้น การมีนโยบายที่ชัดเจนจะเกิดการสนับสนุน ประกอบกับความมุ่งมั่นของท่าน ก็น่าจะเป็นสิ่งตอบโจทย์กับประชาชนและเห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนค่อนข้างเร็ว” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตเปิดสายด่วน 1323 รวม 20 คู่สาย เพื่อให้คำแนะนำกับประชาชนที่โทรเข้ามาปรึกษาเรื่องต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับปีงบประมาณ 2566 ช่วง 11 เดือน ให้บริการแล้วราว 78,000 สาย จึงมีการคาดการณ์ว่าสิ้นสุดปีงบประมาณนี้จะให้บริการถึง 80,000 สาย อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิต มีแพลตฟอร์มสำหรับการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วย Mental Health Check In ซึ่งหากพบว่ามีปัญหาก็จะมีระบบการดูแลผ่านออนไลน์ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาเพิ่มเป็นผู้ช่วยเหลือออนไลน์ โดยเป็นหนึ่งในนโยบายของ รมว.สธ. ด้วย คาดว่าใช้เวลาพัฒนาแล้วเสร็จใน 6 เดือน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image