ส่องนโยบายยกระดับ “30 บาทรักษาทุกโรค” ตั้งเป้า 100 วัน เห็นผล!

ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรคŽ เป็น 1 ในนโยบายหลักของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสินŽ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาจากพรรคเพื่อไทย และเตรียมจะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 11-12 กันยายนนี้ ซึ่งประชาชนไทยกำลังรอฟังรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับเพิ่มขึ้น

แต่หากดูจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค จะพบว่ามีถึง 10 ประเด็น ส่วนจะทำได้จริง หรือจะได้รับการสนับสนุนให้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไรนั้น ยังต้องติดตามดูการขับเคลื่อน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้วŽ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่อไปนับจากนี้

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือปัจจุบันคือ บัตรทอง 30 บาท รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท และอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า เมื่อดูจากนโยบายของพรรคเพื่อไทยในช่วงที่มีการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง มี 10 เรื่องน่าสนใจ พร้อมแจกแจงทีละเรื่อง ดังนี้

1.นัดหมอจากบ้าน นัดคิวออนไลน์ เลือกเวลาพบแพทย์ล่วงหน้าได้ เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าคิวหมอว่างจึงทำได้ แต่มีข้อควรระวัง คือ คิวหมอปกติจะไม่ว่างเลย และไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร จะนัดคิวไหนถูกหรือไม่

Advertisement

2.ตรวจเลือดใกล้บ้าน อาจจะทำได้เฉพาะในอำเภอที่มีห้องปฏิบัติการ (Lab) เอกชนเท่านั้น ที่สำคัญ แล็บจะต้องมีการประเมินให้ได้มาตรฐานและมีระบบส่งผลเชื่อมต่อเข้าโรงพยาบาลได้

3.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย สะดวกดีสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเดินทางบ่อยๆ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว แต่ในทางกลับกัน อาจจะไม่ดีเพราะจะเกิดการไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่โดยไม่จำเป็น ซึ่งจะสูญเสียงบประมาณเพิ่ม

4.เลือกหมอ เลือกโรงพยาบาลได้เอง เพราะประวัติการรักษาถูกเก็บในคลาวด์ ข้อมูลไม่รั่วไหล ซึ่งหากทำได้ ผู้ป่วยจะพอใจมาก แต่อาจจะมีปัญหาที่การเลือกหมอ เลือกโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดความแออัดได้ และในที่สุดจะไม่มีประสิทธิภาพ

Advertisement

5.ลดขั้นตอน ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยระบบที่ช่วยจัดตารางงานบุคลากรอย่างชัดเจน ประชาชนไม่ต้องรอนาน แพทย์ พยาบาลไม่ต้องเหนื่อยเพิ่ม ข้อนี้ดีมาก แต่จะทำได้อย่างไร เพราะปัจจุบันงานมากกว่าคน อาจจะต้องจัดหาคนเพิ่ม มาทำงานธุรการที่ไม่ใช่แพทย์ พยาบาลทำ

6.รับยาใกล้บ้าน ตรวจเสร็จกลับบ้าน รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน โรคเรื้อรังอาการคงที่ ก็ให้รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน น่าสนับสนุน แต่ต้องลดขั้นตอน ทำให้ง่ายขึ้น ส่งยาถึงบ้าน ข้อควรระวังคือ ร้านยาต้องมีเภสัชกรช่วยตรวจสอบความถูกต้องของการส่งยา และแนะนำการใช้ยา

7.ตรวจรับยา วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งฟรี ผู้หญิงรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี ผู้ชายตรวจคัดกรองหรือรับยาป้องกันมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ข้อนี้ควรทำให้ครอบคลุม พร้อมกับต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าการป้องกันนั้นดีกว่าการรักษา

8.ปัญหาสุขภาพจิต รักษาใกล้บ้านและมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โรงพยาบาลใกล้บ้านมีแผนกจิตเวชที่เข้าถึงได้ทันที ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านเทเลเมดิซีน ทำได้ และต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความรู้ต่อประชาชนด้านการส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

9.สถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะท้าย ครอบครัวไร้กังวล ลูกหลานวัยทำงานไม่เสียรายได้ หากทำได้จะสุดยอด เพราะข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ของสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน และต้องให้หน่วยงานในทุกชุมชนร่วมมือกันอย่างดี และทุ่มเทอย่างมาก

และ 10.กรุงเทพมหานคร (กทม.) 50 เขต 50 โรงพยาบาล ต้องมีโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ครอบคลุมทุกเขต เรื่องนี้ดีมากเช่นกัน และต้องมีระบบส่งต่อที่ดี มีประสิทธิภาพ แต่งบประมาณ สถานที่ และบุคลากร จะหาได้จากที่ไหนในช่วง 4 ปี

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีŽ เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.เตรียมพร้อมหลายอย่าง ซึ่งเชื่อว่าแรกที่ทำได้ทันที และจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบการให้บริการบัตรทอง 30 บาท คือ บัตรประชาชนใบเดียวรับบริการที่ไหนก็ได้ ซึ่ง สปสช.ต้องทำงานขับเคลื่อนร่วมกับ สธ. เพราะมีโรงพยาบาลในกำกับทั่วประเทศ และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าจะทำได้ทันที คือ เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือแม้แต่ สถานชีวาภิบาล รวมทั้งการไปรับยาที่ร้านยา ซึ่งหลายส่วน สปสช.ได้ดำเนินการในลักษณะนำร่องไว้แล้ว

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการ สธ. ท่านอยากให้ขยายผลการดำเนินการไปทั่วประเทศ กำลังประสาน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ž ปลัด สธ. ขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะร้านขายยา ซึ่ง สธ.จะพิจารณาว่าจุดไหนเหมาะกับการนำร่องและขยายทั่วประเทศต่อไปในอนาคต อย่างเรื่องการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก จริงๆ รัฐมนตรีชลน่านมองว่าอยากทำมะเร็งครบวงจร จากฉีดในเด็กหญิงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 อาจจะขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม เป็นต้น รวมไปถึงตรวจสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือผ่านเทเลเมดิซีน ท่านอยากให้เป็นจิตเวชครบวงจรแบบยกระดับใหม่ทั้งระบบ คำว่า จิตเวช ไม่ใช่แค่ที่โรงพยาบาล แต่ต้องมีสายด่วน ซึ่งปัจจุบันมีสายด่วนกรมสุขภาพจิต แต่อนาคตอาจมีสายด่วนวัยรุ่น ทรานส์เจนเดอร์ มีระบบตรวจคัดกรอง วัดความรุนแรงกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น ท่านมีโปรเจ็กต์ที่ไปไกลครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ต้องมีระบบให้ความรู้ว่า คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นกลุ่มที่ต้องดูแล ต้องปรับทัศนคติใหม่ เน้นการเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา”Ž นพ.จเด็จกล่าว

เลขาธิการ สปสช.กล่าวถึงการยกระดับบัตรทองว่า จากภาพรวมทั้งหมด จะมุ่งเน้นงานเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟู และการดูแลระยะยาว โดยเริ่มจากการสร้างเสริมสุขภาพฯ มีทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ฉีดวัคซีน ซึ่งจากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการ สธ.เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ได้ชี้แจงว่า ปัญหาค่าใช้จ่ายทุกสิทธิเกี่ยวกับการใช้งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั้น ไม่ติดขัดแล้ว สามารถดำเนินการได้ ไม่ต้องมาตีความกันใหม่ ดังนั้นสามารถดำเนินการตามนโยบายที่เกี่ยวข้องได้ทันที ส่วนการรักษาพยาบาล เช่น การสร้าง 50 โรงพยาบาล ใน 50 เขต ของกรุงเทพฯ เรื่องการรับยาที่ร้านยา การนัดหมอ การใช้บัตรประชาชนใบเดียว จะเป็นระบบการรักษา ส่วนการฟื้นฟูสุขภาพ จะมีการดูแลสุขภาพจิต ดูแลระยะท้าย ที่เรียกว่า ชีวาภิบาล จะมองตั้งแต่ระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) ติดบ้าน ติดเตียง อาจใช้หน่วยอื่นเข้ามาทำ แต่จะยกระดับทั้งหมด

ส่วนงบประมาณนั้น นพ.จเด็จกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สปสช.ได้จัดทำข้อมูลโดยพิจารณาจากนโยบายของพรรคต่างๆ รวม 37 นโยบาย คิดเป็นงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ไปแล้ว

“ขณะนั้นยังไม่มีรัฐบาล วันนี้มีรัฐบาลแล้ว จากการพิจารณานโยบายก็น่าจะใช้งบไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังการแถลงนโยบาย หากมีการปรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพใหม่ หากต้องปรับงบ ก็จะเสนอบอร์ด สปสช.ใหม่อีกครั้ง ไม่ใช่ทุกเรื่องจะเพิ่มภาระบุคลากรและเจ้าหน้าที่ แต่ต้องมาดูการที่มีการนัดหมอก่อน จะทำให้การเข้าพบไม่แน่น ทั้งหมดจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบ แต่ก็มีบางเรื่องที่เพิ่มภาระงาน เช่น จากเดิมฉีดวัคซีนปีละ 4 แสนคน แต่ปีนี้อาจต้องฉีดเพิ่มเป็นล้านคน ตรงนี้ ก็ต้องปรึกษากับปลัด สธ.ว่า บุคลากรจะไหวหรือไม่ ซึ่งค่าตอบแทนตรงนี้จะเป็นส่วนของ สธ. แต่ สปสช.จะจ่ายเป็นค่าบริการ เช่น ฉีดวัคซีน 1 เข็ม จ่าย 20 บาท หาก 10 ล้านเข็ม ก็ต้องเตรียมเงิน 200 ล้านบาท ส่วนกำลังคนให้บริการ สธ.จะเป็นฝ่ายจัดหาŽ” นพ.จเด็จกล่าว

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การทำให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศนั้น จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม อย่างบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เรียกว่า เป็นดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ซึ่งการจะทำลักษณะนี้ ต้องบูรณาการข้อมูลให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ยังต้องมีใบส่งตัว ถึงจะไปรักษาอีกแห่ง บางเขตสามารถทำได้ แต่เมื่อเป็นนโยบายสำคัญจะต้องทำให้ได้ทั้งประเทศ เชื่อว่า สธ.จะเป็นแม่งานใหญ่เป็นเจ้าภาพบูรณาการระบบ ส่วน สปสช.ก็ต้องมีเจ้าภาพในการเบิกจ่ายข้อมูลทุกสังกัด เราต้องเชื่อมข้อมูลจากสังกัดอื่นๆ ทั้งโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์ เป็นต้น โดยการเบิกจ่ายนั้น เบื้องต้นคิดว่าจะเบิกจ่ายที่เรียกว่า Per Visit โดยจะจ่ายตามคนไข้ที่ไปรักษายังโรงพยาบาลนั้นๆ ในแต่ละครั้ง

“เราเคยทำมาก่อนในลักษณะ Per Item อย่างยาแต่ละเม็ด เราก็จะคิดและจ่ายให้โรงพยาบาลตามที่รักษา แต่กรณี Per Visit จะจ่ายเหมาแต่ละครั้ง ซึ่งก็ต้องพิจารณาตามกลุ่มโรคด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเงินเหมาจ่ายรายหัวยังให้ตามปกติ โดยจะกันงบก้อนหนึ่งสำหรับ Per Visit สปสช.จะตามจ่ายให้ ข้อมูลที่ผ่านมาไม่ถึงร้อยละ 20 ที่มีการเดินทางข้ามจังหวัด โดยงบนี้เป็นผู้ป่วยนอก หรือโอพีดี ส่วนผู้ป่วยใน (Admit) จะมีเงินอีกก้อนแยกกันŽ” นพ.จเด็จกล่าว และว่า จากการหารือกับรัฐมนตรีชลน่าน อยากให้ทำเร็วที่สุด 100 วัน หรือ 3 เดือน ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง สปสช.มีความพร้อมในเรื่องการเงิน เพราะมีระบบรองรับแล้ว หากโรงพยาบาลพร้อมให้เชื่อมระบบ ก็พร้อมเบิกจ่าย อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกอาจเริ่มจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image