“เมติคูลี่” พร้อมผลิต “แผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียม 3 มิติ” ส่ง รพ.ช่วยผู้ป่วยสโตรก-อุบัติเหตุ

“เมติคูลี่” พร้อมผลิต “แผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียม 3 มิติ” ส่ง รพ.ช่วยผู้ป่วยสโตรก-อุบัติเหตุ

วันนี้ (11 กันยายน 2566) รศ.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน หัวหน้าทีมนักวิจัยจากบริษัท เมติคูลี่ จำกัด ซึ่งพัฒนาแผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากโลหะไททนาเนียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการแผ่นปิดกะโหลกไทเทียมฯ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นั้น ในฐานะที่เป็นนักวิจัย และยังเป็นภาคเอกชนที่คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวขึ้นมาต้องบอกว่ามีความพร้อมสำหรับการผลิต เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยได้ทันที

ทั้งนี้ รศ.บุญรัตน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ บอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ขณะนี้มีโรงพยาบาลติดต่อเข้ามาที่บริษัทเมติคูลี่ประมาณ 3-5 แห่งแล้ว เพื่อจะใช้เวชภัณฑ์แผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากโลหะไทเทเนียมฯ ซึ่งถือเป็นการตอบรับที่รวดเร็วอย่างมาก ทำให้เห็นว่า นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผ่านการคิดค้นจากนักวิจัยไทย ได้รับการยอมรับ และเป็นที่ต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ยังติดปัญหาในขั้นตอนกระบวนการด้านเอกสารระหว่างหน่วยงานรัฐ กับภาคเอกชนเกี่ยวกับการใช้เวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนทางเอกสาร และกระบวนการที่ยังติดขัดเล็กน้อย แต่ทราบว่า ขณะนี้กำลังแก้ไขปัญหาอยู่ ซึ่งเมติคูลี่พร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับภาครัฐ ในการช่วยทำให้ผู้ป่วยที่ต้องปิดแผ่นกะโหลกศีรษะทั่วประเทศได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม” รศ.บุญรัตน์ กล่าว

รศ.บุญรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยในประเทศไทยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะ ปัจจุบันคาดว่ามีทั้งผู้ป่วยหน้าใหม่และผู้ป่วยสะสมที่ต้องรอการรักษาด้วยการปิดกะโหลกอีกจำนวนประมาณ 1,000-4,000 คนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นผู้ป่วยทั้งในวัยทำงาน และวัยสูงอายุที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ช่วยได้ทันแต่ก็ต้องได้รับการฟื้นฟู

Advertisement

“เนื่องจากสโตรก (Stroke) จะทำให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย ส่งผลให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก และมีความผิดปกติของหลอดเลือด และความดันสมอง รวมถึงยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางท้องถนนและได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงซึ่งมีจำนวนที่มากเช่นกันในประเทศไทย โดยบางรายจะต้องเปิดกะโหลกศีรษะ และรักษาเสร็จแล้วก็ต้องปิดกลับไปด้วยเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ป้องกันความเสียหายของเนื้อสมอง และจะช่วยให้ความดันภายในสมองเป็นปกติ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด” รศ.บุญรัตน์ กล่าวและว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศและใช้สิทธิบัตรทองสำหรับการรักษา และดูแลสุขภาพของตัวเอง ก็จะได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ราคาสูงได้อย่างเท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากบอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเป็นชุดสิทธิประโยชน์ทางด้านสุขภาพให้กับคนไทยสิทธิบัตรทอง

รศ.บุญรัตน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยใช้เวชภัณฑ์แผ่นปิดกะโหลกศีรษะด้วยโลหะไทเทเนียมฯ อยู่บ้าง แต่มักจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายเนื่องจาเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีราคาสูง ส่วนผู้ป่วยที่มีรายได้ไม่มากนัก ก็มีส่วนน้อยที่เข้าถึงได้ด้วยการประสานความช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และศิริราชมูลนิธิ เป็นต้น ที่มีงบประมาณของมูลนิธิที่พอจะช่วยเหลือผู้ป่วยบางส่วนให้เข้าถึงได้

“สำหรับการบรรจุสิทธิประโยชน์นี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ต้องปิดกะโหลกศีรษะ รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้แผ่นวัสดุแบบเดิมที่เป็นพลาสติกทางการแพทย์ที่อาจเคลื่อน หรือปิดได้ไม่แนบชิดกับรูปทรงกะโหลกเดิม ก็จะได้เปลี่ยนเป็นแผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากไททาเนียมแทน ที่จะเข้ากับรูปทรงรอยต่อของกะโหลกผ่านการพิมพ์ในรูปแบบ 3 มิติ อีกทั้งวัสดุไททาเนียมที่นำมาผลิตก็เป็นเกรดสูงสุดทางการแพทย์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ และเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ที่สำคัญแผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากไททาเนียมจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทำการเปิดกะโหลกอีกเพื่อเปลี่ยนแผ่นปิด ที่ลดความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย” รศ.บุญรัตน์ กล่าว

รศ.บุญรัตน์ กล่าวว่า การอนุมัติชุดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวนอกจากจะช่วยผู้ป่วยจำนวนมากแล้ว อีกด้านยังเป็นการสนับสนุนนักวิจัยภายในประเทศ ที่คิดค้นนวัตกรรมโดยฝีมือของคนไทยได้สำเร็จ และถือว่าเป็นก้าวสำคัญอย่างมากต่อวงการวิจัยทางการแพทย์ ที่หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญในการสนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะในปัจจุบันนักวิจัยไทยมีความเก่งและเชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่ง่ผลงานหลายชิ้นได้รับการยอมรับในต่างประเทศด้วย

“อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของนักวิจัยด้านการแพทย์ในเมืองไทยเกือบทั้งหมดต้องการให้ผลงานหรือนวัตกรรมที่วิจัยอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ได้ช่วยประชาชนทั้งประเทศ และการที่ได้เข้าไปเป็นนวัตกรรมในชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจะทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้เข้าถึง ขณะเดียวกันภาครัฐที่สนับสนุนได้ช่วยให้งานวิจัยของประเทศมีความรุดหน้าพร้อมกับพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยังช่วยสร้างกำลังใจให้นักวิจัยได้ต่อยอดความสำเร็จมากขึ้นไปอีก” รศ.บุญรัตน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image