‘ชลน่าน’ จ่อชง ครม. ตั้ง กก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ทาบทาม ‘หมอเลี้ยบ’ เป็นเลขาฯ

‘ชลน่าน’ จ่อชง ครม. ตั้ง กก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ทาบทาม ‘หมอเลี้ยบ’ เป็นเลขาฯ

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข ว่า ในวันที่ 15 ก.ย. จะมีการประชุมขับเคลื่อนที่นโยบายกับผู้บริหาร สธ. แล้วจะมีการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ก.ย. หลังจากนั้นจะมีกิจกรรมแข่งขันฟุตบอลร่วมกันเพื่อสร้างความรู้จักกันให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่แถลงนโยบายของรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) บอกว่าทุกกระทรวงจะต้องมีควิกวิน (Quick Win) นั่นหมายถึง จะต้องมีการเตรียมการวางแผนทำงาน อย่างที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย บอกว่า สั่งงานวันนี้ต้องเสร็จเมื่อวาน นั่นหมายถึงการทำงานที่มีการวางแผน อย่างไรก็ตาม นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เดิมมีการเตรียมไว้ 12 เรื่องใหญ่ๆ โดยล่าสุดเพิ่มมาเป็น 13 เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะมีควิกวินเด่นๆ ออกมา แต่นโยบายใหญ่คือ การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้เป็น 30 บาทพลัส

“ใน 4 ปี หากผมมีโอกาสอยู่ครบ ก็มีความคาดหวังว่าจะมีการดูแลสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีทั้งมิติทางร่างกาย ปัญญาและมิติทางสังคม เชื่อมโยงกันผ่านองค์กรหนึ่งที่เราเรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้า ครม.ในการประชุมครั้งต่อไป โดยกรรมการชุดนี้จะขับเคลื่อนนโยบายและอุดรอยรั่วต่างๆ เพื่อให้การทำงานระหว่างพวกเราไร้รอยต่อ โดยมีท่านนายกฯเป็นประธาน และมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการฯพร้อมนำเสนอรายชื่อคณะกรรมการ” นพ.ชลน่านกล่าว

Advertisement

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า เมื่อวานนี้มีทัวร์มาจอดที่ตน เพราะได้อภิปรายในสภาว่าจะต้องเอาค่านิยมมีลูกมากจะยากจนออกจากสมองคนไทย แต่ตนขอเรียนว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาของทุกประเทศ เพราะมีอัตราการเกิดน้อยมาก ทำให้เกิดสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การมีลูกจะต้องมีความพร้อมและมีความเต็มใจที่จะมีลูก เนื่องจากหลายคนยังมีความกังวลอยู่หลายเรื่อง ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ถูกนำมาเป็นประเด็นการเมืองด้วย

เมื่อถามถึงนโยบายการทำ 50 เขต 50 รพ. นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่อง 50 เขต 50 รพ. เป็นเชิงนโยบาย ซึ่งต้องไปดูว่าหากต้องก่อสร้างสถานพยาบาลใหม่ก็หาพื้นที่ก่อสร้างใหม่ แต่ถ้าเขตไหนมีสถานที่อยู่แล้ว ก็จะยกระดับขึ้นมาให้มี 120 เตียง หรือเขตใกล้กันก็อาจผสมผสานกัน อย่างที่ตนยกตัวอย่าง 1 เขตแรกที่อาจทำได้ก่อนคือ เขตดอนเมือง เนื่องจากจะต้องดูพื้นที่ก่อสร้าง รพ. ดูจำนวนประชากรในพื้นที่ และปัญหาในเขตนั้นๆ ซึ่งดอนเมืองเป็นหนึ่งเขตที่มีปัจจัยนี้

เมื่อถามถึงเรื่องที่ สธ. จะออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.นั้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก.พ.มีจำนวนข้าราชการอยู่ราว 7-8 แสนคนจากหลายกระทรวง ในจำนวนนี้เป็นข้าราชการ สธ.แล้ว 5 แสนกว่าคน ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุด เราจึงมีแนวคิดว่า หาก สธ.แยกออกมาบริหารงานเองผ่านระเบียบการบริหารจัดการ มีกฎหมายรองรับเอง ก็จะเกิดความคล่องตัวในการคัดเลือกบุคลากรเข้าระบบ การดูแล การรักษาบุคลากร เพื่อให้เอื้อต่อการให้บริการประชาชน

Advertisement

ดังนั้น เราจึงต้องคุยกับ ก.พ.หากเป็นไปได้เราตั้งใจว่าในปี 2568 จะสามารถเสนอกฎหมาย ก.ส.ธ. หรือร่างพระราชบัญญัติระเบียบการข้าราชการบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขเข้าสู่สภาได้ ตนเชื่อว่าที่ผ่านมีความพยายามผลักดันเรื่องนี้มา ซึ่งตนก็จะพยายามทำให้สำเร็จ

เมื่อถามถึงการดูแลบุคลากรสาธารณสุข นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในส่วนของบุคลากรเราพบว่ามีความไม่พอเพียง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการกระจายที่ไม่สอดคล้องอย่างเหมาะสม อีกส่วนคือการออกจากระบบ และสุดท้ายคือการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ ทำให้มีตัวเลขเยอะ แต่คนทำงานไม่มาก เราก็ต้องไปปรับแก้ตรงนี้ก่อน เพื่อให้คนที่มีในระบบใช้ศักยภาพของตนเองได้ การทำให้ภาระงานลดลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ค่าตอบแทน ดูแลสวัสดิการและโอกาสความก้าวหน้า เรื่องเหล่านี้สามารถทำได้ระดับแรกๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image