นายกสมาคมกายภาพบำบัดฯ ชี้ คนไม่รู้ ‘สิทธิบัตรทอง’ ก็เข้าคลินิกเอกชนได้ ทำเสียโอกาสรักษา แนะสื่อสารเพิ่ม

เมื่อวันที่ 23 กันยายน รศ.ดร.กภ.มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์ อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้วิชาชีพกายภาพบำบัดร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เชิญชวนคลินิกกายภาพบำบัดภาคเอกชนให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) สิทธิบัตรทอง ใน 4 กลุ่มอาการ คือ 1.หลอดเลือดสมอง 2.คนไข้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง 3.กลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลัง และ 4.กลุ่มที่สะโพกหักชนิดไม่ร้ายแรง เนื่องจากปัจจัยจากภาวะสังคมสูงอายุและโรคเรื้อรังต่างๆ ทำให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มอาการนี้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลมีข้อจำกัดในด้านจำนวนของนักกายภาพบำบัด อีกทั้งนักกายภาพบำบัดก็ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 กลุ่มอาการนี้ ทำให้ไม่สามารถนัดผู้ป่วยมารับการฟื้นฟูได้มากเท่าที่ต้องการ ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการไม่ครบโดส 20-30 ครั้ง การฟื้นตัวของผู้ป่วยก็จะเป็นไปได้ยาก

“ในมุมของผู้ป่วยเองซึ่งเคลื่อนไหวไม่สะดวก ก็มีความลำบากในการเดินทางมาโรงพยาบาล ถ้าเป็นคนที่มีฐานะก็มักจะจ้างนักกายภาพไปดูแลที่บ้าน แต่ถ้าไม่มีกำลังทรัพย์ก็มักจะดูแลกันตามมีตามเกิดหรือทำตามที่ได้รับการสอนไปครั้งสุดท้าย ดังนั้น การมีคลินิกกายภาพบำบัดเอกชนเข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง โดยมี สปสช. สนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่าย จึงเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการ และไม่ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้หายออกไปจากระบบ” รศ.ดร.กภ.มัณฑนากล่าวรศ.ดร.กภ.มัณฑนากล่าวต่อว่า การจัดบริการรูปแบบนี้ ทางสภากายภาพบำบัด ได้ร่วมมือกับ สปสช. ในการนำร่องในพื้นที่ กทม. มาระยะหนึ่ง และปรากฏว่าสามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และช่วยลดภาระของทั้งโรงพยาบาลและญาติผู้ป่วย อีกทั้งมีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่ามีความคุ้มค่ามาก อย่างไรก็ดี การดำเนินการในระยะที่ผ่านก็ยังมีข้อติดขัดในด้านการรับรู้ของทั้งประชาชนและหน่วยบริการ เพราะในฝั่งของประชาชนเองก็ยังไม่รู้ว่าถ้าป่วยด้วย 4 กลุ่มอาการนี้ เมื่อออกจากโรงพยาบาลสามารถที่จะรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ที่คลินิกกายภาพบำบัดเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ให้บริการ บางครั้งบุคลากรในโรงพยาบาลก็ยังไม่รู้ว่ามีทางเลือกที่ให้คนไข้ไปรับบริการกายภาพบำบัดโดยที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ ซึ่งในระยะต่อไปจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้สิทธิของตัวเองให้มากขึ้น รวมทั้งให้หน่วยบริการทราบเกี่ยวกับการจัดระบบบริการแบบนี้มากขึ้น

“ต้องทำทั้ง 2 ทาง เพราะตอนนี้ในแง่ของงบประมาณเนี่ย สปสช. จัดสรรลงแล้ว ทางโรงพยาบาลซึ่งเป็นผู้ส่งต่อคนไข้ก็มีหน้าที่แนะนำคนไข้หรือส่งต่อคนไข้ให้กับระบบบริการข้างนอกโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างการรับรู้แก่ประชาชน อย่างน้อยก็สามารถถามคุณหมอได้ว่าจะรับบริการกับคลินิกกายภาพนอกโรงพยาบาลได้หรือไม่ ถ้าทำทั้ง 2 ทางนี้ได้ก็จะทำให้เกิดการบริการได้จริง” รศ.ดร.กภ.มัณฑนากล่าว

รศ.ดร.กภ.มัณฑนากล่าวอีกว่า ในขณะนี้ ทางสภากายภาพบำบัดเองยังคงเปิดรับสมัครคลินิกกายภาพบำบัดเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมดูแลประชาชน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีนักกายภาพบำบัดที่พร้อมให้บริการ มีการจดทะเบียนแล้ว และมีระบบการส่งต่อข้อมูล นอกจากนี้ สภากายภาพบำบัดเองก็กำลังเร่งจัดทำมาตรฐานคลินิกกายภาพบำบัด ซึ่งปกติแล้วคลินิกจะได้มาตรฐานจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพอยู่แล้วถึงสามารถเปิดคลินิกได้ แต่หากได้รับการรับรองมาตรฐานจากสภากายภาพบำบัด จะช่วยทำให้ประชาชนมั่นใจขึ้นว่าในคลินิกนั้นมีนักกายภาพบำบัดที่สามารถที่จะให้บริการได้อย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ ซึ่งคาดว่ามาตรฐานฉบับนี้จะสามารถประกาศใช้ได้ภายใน 1 ปีนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image