ปทุมฯลดคิวกลุ่มเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เปิดหน่วยคัดกรอง รพ.ธัญบุรี พร้อมบริการเสาร์-อาทิตย์
วันนี้ (24 กันยายน 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา โรงพยาบาล (รพ.) ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เปิดโครงการคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ด้วยการส่งกล้อง (Colonoscopy) เครือข่าย node รพ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ปี 2566 โดยมี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน นอกจากนี้ นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี นพ.ภุชงค์ ไชยชิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี นพ.ศราวุธ ธนเสรี ผู้อำนวยการ รพ.ธัญบุรี คณะผู้บริหาร บุคลากร รพ.ธัญบุรี นายอำเภอธัญบุรี นายกสโมสรโรตารีปทุมธานี สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าส่วนงาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี เข้าร่วม โดยมีผู้รับบริการกลุ่มเสี่ยง ผู้เข้ารับการตรวจ 175 คน
นายสิทธิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ประชากรในประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากโรคภัยคุกคามทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประเทศ และปี 2566 สถานการณ์ด้านโรคมะเร็ง จ.ปทุมธานี มีอัตราป่วยและอัตราตายด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอันดับ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทุกชนิด และที่น่าเป็นหวงคือ นอกจากความอันตรายของโรคมะเร็งแล้ว ความแออัดและโอกาสในการเข้าถึงบริการยังไม่ครอบคลุมมากเท่าที่ควร
“วันนี้เป็นโอกาสดีของประชาชนในพื้นที่ อ.ธัญบุรี อ.คลองหลวง อ.หนองเสือ และ อ.ลำลูกกา ที่ได้รับบริการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ละลำไส้ตรง ด้วยการส่งกล้อง ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลไกลบ้าน ช่วยละระยะเวลารอคอยและลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลามด้วย” นายสิทธิชัย กล่าว
นพ.ภุชงค์ กล่าวว่า ปี 2566 สถานการณ์โรคมะเร็ง จ.ปทุมธานีพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง 5 อันดันแรกได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ และมะเร็งปอด และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 5 อันดับแรกได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งปอด ดังนั้น สสจ.ปทุมธานี จึงร่วมกับ รพ.ธัญบุรี และเครือข่ายพื้นที่ 4 อำเภอ วางแผนให้บริการส่องกล้องตรงหามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (Colonoscopy) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง และลดระยะเวลารอคอยการรับบริการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยค้นหากลุ่มเสี่ยงจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจคัดกรอง Fit test หากพบผลเป็นบวก จะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้อง เพื่อให้ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น
นพ.ศราวุธ กล่าวว่า รพ.ธัญบุรี เป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการส่องกล้อง และผ่าตัด มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความพร้อม มีห้องผ่าตัดรองรับประชาชนในพื้นที่ จากสถานการณ์ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อายุ 50-70 ปีที่ผ่านมามีระยะเวลารอคิวการส่องกล้องเพื่อยืนยันผลเกือบ 1 ปี จึงได้ร่วมกับ สสจ.ปทุมธานี จัดกิจกรรมโครงการคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ด้วยการส่องกล้องขึ้นโดยร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก รพ.ราชวิถี 2 รพ.หาดใหญ่ และใช้งบประมาณเงินบำรุงของโรงพยาบาลเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรม เช่น ค่าเช่ากล้อง ส่วนการค้นหากลุ่มเสี่ยงด้วยการตรวจคัดกรอง Fit test เป็นบริการของประชาชนคนไทยทุกสิทธิตามสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จาก สปสช. และสำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง เมื่อพบผลตรวจ Fit test ผิดปกติ จะได้รับการส่องกล้องยืนยัน และได้รับการรักษาผ่าตัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“จากการโครงการดังกล่าว ทำให้ลดระยะเวลารอคิวของผู้ป่วยจาก 1 ปี เป็น 1 เดือน และอนาคตวางแผนดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจที่เร็วขึ้น และรักษาได้ในระยะแรกอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มองว่า นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะทำให้ประชาชนเข้ารับบริการที่สะดวกมากขึ้น และโรงพยาบาลเองก็มีระบบรองรับที่พร้อมให้บริการเช่นกัน” นพ.ศราวุธ กล่าว
นพ.สาธิต กล่าวถึงโครงการคัดกรองและตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการส่องกล้อง ที่ สสจ.ปทุมธานี และ รพ.ธัญบุรี ว่า เป็นประโยชน์กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างมาก ลดระยะเวลารอคิว และเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิที่ได้รับการตรวจคัดกรอง Fit test ซึ่งประชาชนทั้งเพศหญิงและชาย อายุ 50-70 สามารถขอรับแผ่นทดสอบการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ หรือ Fit test ได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถตรวจได้ทุก 2 ปี หากตรวจผลผิดปกติก็จะได้รับการรักษาที่รวดเร็ว
“จากข้อมูลการดำเนินงานในระบบ HDC สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ณ วันที่ 12 กันยายน 2566 พบว่า ภาพรวมเขต 4 ผู้ที่มีผลคัดกรองผิดปกติได้รับการส่องกล้องแล้ว 1,061 ราย จากผู้ที่มีผลคัดกรองผิดปกติทั้งหมดที่ยังไม่ได้รับการส่องกล้อง 4,591 ราย สำหรับการจัดโครงการครั้งนี้จะช่วยให้กลุ่มเสี่ยงที่คัดกรองด้วย Fit test แล้วได้รับการส่องกล้องที่เร็วขึ้น นับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน ตอบรับนโยบายยกระดับ 30 บาท ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่อีกด้วย” นพ.สาธิต กล่าว