สธ.ต่อยอดศูนย์ข้อมูลการเงิน รพ. ทุกแห่งคีย์เข้าระบบ ใช้ AI วิเคราะห์-วางแผนนโยบาย

สธ.ต่อยอดศูนย์ข้อมูลการเงิน รพ. ทุกแห่งคีย์เข้าระบบ ใช้ AI วิเคราะห์-วางแผนนโยบาย

วันนี้ (1 ตุลาคม 2566) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET ดำเนินการเรื่องศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) ของ สธ. ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายข้อมูลสุขภาพดิจิทัล ในกรอบข้อมูลด้านการเงินและการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.และนำข้อมูลมาจัดทำเป็น Big data วิเคราะห์ประมวลผลในรูปแบบ Business intelligence เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานในการคีย์ข้อมูลของหน่วยบริการ รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายไปยังกองทุนต่างๆ ซึ่งสอดรับกับนโยบายควิกวิน (Quick win) เรื่องดิจิทัลสุขภาพ โดยล่าสุด ได้มีการประชุมชี้แจงการใช้งานศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) สธ. ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และได้เน้นย้ำให้หน่วยบริการส่งข้อมูลขึ้นระบบ อาทิ ข้อมูลด้านการเงิน สิทธิการรักษา ข้อมูลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก การวินิจฉัย การส่งต่อ อุบัติเหตุ เป็นต้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน เพื่อทดสอบการใช้งานระบบ

“ทั้งหมดจะเป็นการสร้างเครือข่ายข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลาง โดยมีกองเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เป็น Data Controller ควบคุมข้อมูล สนับสนุนอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการรวบรวม จัดเก็บ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อส่งไปยังกองทุนต่างๆ และแม้โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีการใช้ระบบบันทึกข้อมูลที่แตกต่างกัน แต่เราได้พัฒนาเกตเวย์ ใช้ระบบ API ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่ส่งเข้ามาอยู่ในชุดข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการเบิกจ่ายหรือการเคลม พร้อมทั้งดำเนินการตามมาตรฐานของ INET มีการทดสอบและแก้ไขช่องโหว่ของระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” นพ.พงศ์เกษม กล่าว

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า สำหรับในระยะต่อไป ข้อมูลที่เข้ามาจำนวนมากจนเป็น Big Data นี้ จะมีระบบ AI มาวิเคราะห์ตรวจสอบเพื่อช่วยในเรื่องการเบิกจ่าย โดยขณะนี้ได้เริ่มการทดสอบแล้ว รวมถึงกำลังพัฒนาการใช้โรโบติกในการเชื่อมระบบ เพื่อให้การทำงานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ลดภาระงานของบุคลากรตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ สธ.ส่วนการพัฒนาไปสู่ Business intelligence ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะมาเชื่อมต่อเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนตามการปฏิบัติงาน (P4P) การเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลหรือระดับเขต เพื่อเป็นชุดข้อมูลที่สามารถนำไปใช้การวิเคราะห์ได้ในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image