อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ด.ช.ก่อเหตุไม่มีประวัติรักษาในกรมฯ รุกประสานพารากอนตั้งหน่วยเยียวยาจิตใจ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ด.ช.ก่อเหตุไม่มีประวัติรักษาในกรมฯ รุกประสานพารากอนตั้งหน่วยเยียวยาจิตใจ

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ที่โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ เพื่อมาเยี่ยมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ห้างพารากอน เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดจะได้รับการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย และได้แจ้งกับทาง รพ. ว่าหากมีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือจากกรมสุขภาพจิต เราก็พร้อมให้การดูแลอย่างเต็มที่ เพราะเรามีทีม MCATT ที่คอยดูแลเรื่องสุขภาพจิตหลังเกิดความรุนแรงต่างๆ ซึ่งจะมีการรวบรวมตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจเพื่อการดูแลต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ตนก็จะเดินทางไปที่ห้างพารากอน เพื่อเปิดพื้นที่ดูแลเรื่องจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง พนักงานห้างร้าน คนทำงานในห้าง

เมื่อถามถึงที่มีการระบุว่า เด็กชายผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยจิตเวช ที่ขาดยา ทำให้เกิดภาวะหลอนแล้วไปก่อความรุนแรง พญ.อัมพรกล่าวว่า ตนได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาให้ข้อมูลนี้ทางสื่อ ซึ่งเด็กอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทีมจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทางกรมฯ จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า หากมีประเด็นทางจิตเวชที่ต้องมีการประเมิน เพื่อช่วยเหลือและรักษา ทางกรมฯ ได้เตรียมหน่วยงานรองรับไว้แล้ว และพร้อมร่วมมือกับตำรวจในการให้ข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วย หรือเหตุเกี่ยวข้องใดๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและการดูแล

ถามต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อมาขอข้อมูลผู้ป่วยจากกรมฯ หรือไม่ พญ.อัมพรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อมา เนื่องจากเด็กชายรายนี้ไม่มีประวัติได้รับการดูแลจากทางกรมสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์มากกว่าอาจจะไม่ใช่การสรุปว่าเด็กเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอะไรก็ตาม แต่สังคมต้องตื่นตัวกับการป้องกันความรุนแรง ไม่ว่ารายนี้จะเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เด็กทุกคนที่เจ็บป่วยทางจิตต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ว่ารายนี้จะขาดยาหรือไม่แต่ผู้ป่วยทุกคนต้องไม่ขาดยา และต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากครอบครัว

Advertisement

“อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับประชาชนที่จะไปเจาะว่าเด็กรายนี้เป็นอย่างไร เพราะเป็นบทบาทของการดำเนินคดี หรือนักวิชาที่จะเรียนรู้เพื่อนำมาป้องกันความรุนแรงทางสังคมต่อไป ส่วนสังคมก็ไม่ต้องสร้างสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เด็กชาชินกับความรุนแรง เหล่านี้สังคมต้องทบทวนเพื่อให้เกิดการตระหนักมากขึ้นอีกครั้ง” พญ.อัมพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image