MCATT เยียวยาผู้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงพารากอนแล้ว 130 ราย เครียดปานกลาง-นอนไม่หลับ

MCATT เยียวยาผู้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงพารากอนแล้ว 130 ราย เครียดปานกลาง-นอนไม่หลับ

ความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยทีม Mental Health Crisisi Assessment and Treatment team (MCATT) ประกอบด้วย ทีมแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพ ติดตามดูแลผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพื่อดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตมาโดยตลอด ทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและทางอ้อม รวมทั้งประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพจิตและบาดแผลทางใจจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น

วันนี้ (8 ตุลาคม 2566) นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตจัดทำแผนปฏิบัติการและเยียวยาเชิงรุก พร้อมเฝ้าระวังดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ซึ่งอาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะตื่นตระหนก ตื่นกลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ หวาดกลัว ตกใจง่าย กระสับกระส่าย วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ หงุดหงิด สมาธิแย่ลง รู้สึกซึมเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง หรือการคิดเรื่องทำร้ายตัวเอง ทั้งนี้หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันราชานุกูล สถาบันจิตเวชเด็กและวัยรุ่น สถาบันกัลยาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมกับ ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เร่งลงเยี่ยมติดตามเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เชิงรุกในพื้นที่ และตั้งศูนย์การค้าสยามพารากอน Care D+ Space ให้บริการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยทีมสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิต จิตแพทย์ออน์ไลน์ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และนักวิชาการสาธารณสุข พร้อมทั้งการคัดกรองดิจิทัลออน์ไลน์ แอพลิเคชั่นไลน์คิวอาร์โคด และสายด่วน โทร.1667 ร่วมให้คำปรึกษาดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทุกกลุ่มให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิต

Advertisement

“ขณะนี้มีผู้รับบริการทุกระบบแล้วทั้งสิ้น 130 ราย เป็นผู้ใหญ่ 121 ราย และเด็ก 9 ราย พบว่ามีระดับความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่มีอาการนอนไม่หลับ ทีม MCATT ได้ให้การปรึกษารายบุคคลและแนะนำเทคนิคการคลายความเครียด สามารถเฝ้าระวังอาการตนเองได้” นพ.ธิติ กล่าว

พญ.ดุษฏี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตเตรียมพร้อมลงเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับการช่วยเหลือในเรื่องการปฐมพยาบาลสภาพจิตใจเบื้องต้นขณะนี้ จะเน้นในเรื่องของการ โดยจะทำความเข้าใจกับพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและร่วมดูแลการปฏิบัติการเยียวยาที่สำคัญโดยใช้หลักการ ปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid: PFA) เป็นกระบวนการสำคัญในการเยียวยาจิตใจอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ครอบครัว ญาติ และคนในพื้นที่ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนใกล้เคียงให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ โดยการแนะนำการสำรวจความรู้สึกตัวเองว่าไม่สบายใจ จนไม่สามารถจัดการอารมณ์ได้ ตั้งสติและมองหาทางออก เช่น ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวรับฟังและ ใส่ใจคนรอบข้าง โดยรายที่มีปัญหาสำคัญต้องส่งต่อและดูแลต่อเนื่องต่อไป

“ประชาชนสามารถยังสามารถโทรศัพท์สายด่วนปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต 1667 ซึ่งมียอดผู้
รับบริการปรึกษาตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2566 มากกว่า 100 รายแล้ว มีผู้เสี่ยงสูงเป็นผู้ใหญ่ 22 คน เด็ก 1คน โดยปัญหาที่ขอคำปรึกษาได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล เครียดวิตกกังวลเรื่องตั้งครรภ์ เครียดเรื่องลูกออทิสติกความเจ็บป่วยทางจิต เครียดเรื่องครอบครัว การปรับตัวกับเพื่อน การใช้กัญชาและปัญหาความรัก เป็นต้น” พญ.ดุษฎี กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image