“ชลน่าน” เผยกลุ่มธุรกิจกัญชง-กัญชา ไม่ติดใจคืน “ช่อดอก” ยส.5 อีกครั้ง เร่งยกร่าง กม.คุมเพิ่ม
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการหารือร่วมกับสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า จากการหารือ สมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงฯ มีข้อเสนอในฐานะผู้ประกอบการว่า ประสบปัญหาอะไร มีความต้องการอะไร จึงแนะนำปัญหาและข้อเสนอต่อ สธ. เช่น ระบุว่าเป็นนักลงทุน เมื่อมีนโยบายเรื่องนี้ออกมาจากรัฐบาลก็เตรียมตัวลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท แต่พอมีความไม่ชัดเจนในเรื่องกฎหมายสถานะของกัญชง กัญชา ทำให้ขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปไม่ได้
“จะเป็นยาเสพติดหรือไม่ พอบอกว่าไม่ชัดเจน ก็ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจไม่ได้ จึงมีข้อเสนอว่าต้องให้มีความชัดเจน สถานะกัญชงและกัญชาเป็นอย่างไร จะเป็นยาเสพติดหรือไม่เป็นยาเสพติด เขาไม่ติดใจ แต่ขอให้กำหนดให้ชัดเจนเพื่อทำธุรกิจให้สอดรับกันได้” นพ.ชลน่านกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำข้อเสนอเหล่านี้มาปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า แน่นอน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น สธ.เข้าใจและเห็นใจนักลงทุน
“บริษัทหนึ่งๆ ลงทุนเป็น 200-300 ล้านบาท รวมๆ แล้วเป็นหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่มีผลตอบแทนเลย ยังไม่มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะความชัดเจนในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์ หรือสถานะของผลิตภัณฑ์ยังไม่มี ยังไม่มีกฎหมายรองรับ สิ่งที่เราจะทำคือ ต้องสร้างความชัดเจนตรงนี้ สถานะจะเป็นหรือไม่เป็นยาเสพติด สถานะที่เป็นอยู่แล้วพอหรือไม่ จะต้องไปแก้ประกาศเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ต้องดู หรือกัญชง กับ กัญชา ควรจะแยกจากกันหรือไม่ เพราะประโยชน์การใช้กัญชงนั้นต่างจากกัญชา กัญชงสามารถใช้เส้นใยในทางอุตสาหกรรมเพื่อการพาณิชย์ได้ แต่กัญชาไม่มีประเภทนี้ กัญชาใช้เพื่อสุขภาพและทางการแพทย์ได้ แต่กัญชงมีมากกว่านั้น เขาก็เสนอว่า ควรจะมีการแยกเขียนให้ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ ควรจะมีกฎหมายมารองรับให้เขียนให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้นำข้อกำหนดหรือการควบคุมทางกฎหมาย ไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกิจต่อไป” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามต่อไปว่า ช่วงที่สถานะของกัญชงกัญชายังไม่ชัดเจนเช่นนี้ ภาคธุรกิจยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปก่อนได้ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตามกฎหมายเดิม สามารถเดินหน้าไปได้ส่วนหนึ่ง เช่น ถ้าต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ก็ต้องทำตามข้อกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น กฎหมายต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะต้องขออนุญาต ขออนุมัติต่างๆ หรือกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย เป็นต้น
“นอกจากนี้ สารทีเอชซี (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 ก็ไม่ใช่ยาเสพติด สามารถผลิตได้ หรือสารซีบีดี (CBD) เอาไปทำผลิตทางการแพทย์ เอาไปเป็นยา ก็สามารถทำได้ แต่ว่าประเด็นความไม่ชัดเจนเรื่องของการควบคุม การอนุญาต การอนุมัติต่างๆ ก็จะมีประเด็นปัญหาอยู่ถ้าสถานะยังไม่ชัด” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการพิจารณากำหนดส่วนของกัญชาเป็นยาเสพติดเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้เพียงสารสกัด ทีเอชซีเกินร้อยละ 0.2 นพ.ชลน่านกล่าวว่า คณะทำงานที่ยกร่างกฎหมายกำลังพิจารณาอยู่ จะต้องมาพูดคุยกันว่า นอกเหนือจากที่ประกาศไปแล้ว มีความจำเป็นต้องประกาศอะไรที่จะเป็นยาเสพติดเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ต้องอาศัยข้อมูลรอบคอบ รอบด้าน
ต่อข้อถามว่า วางกรอบเวลาไว้หรือไม่ว่าจะต้องได้ข้อสรุปเมื่อใด นพ.ชลน่านกล่าวว่า กำลังเร่งทำกันอยู่ ถ้าเสร็จแล้วจะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
เมื่อถามอีกว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหารือหรือไม่ว่า ถ้ามีการเอาช่อดอกกลับไปเป็นยาเสพติด จะยังสามารถทำธุรกิจต่างๆ ต่อไปได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มาร่วมหารือบอกว่า จะเอาช่อดอกกลับไปเป็นยาเสพติด เขาก็ไม่ติดใจ แต่ขอความชัดเจนเท่านั้น
“ตรงนี้เป็นข้อเสนอของเขา เขาบอกว่ายังสามารถทำธุรกิจได้ ขอเพียงให้มีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับใด เกี่ยวข้องกับกฎหมายยาเสพติดหรือไม่ กฎหมายของแพทย์แผนไทย หรือกฎหมายของตัวกัญชงกัญชาเองหรือไม่” นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามถึงก่อนหน้านี้มีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ของ อย.แสดงความจำนงปลูกกัญชา ซึ่งมีลงทะเบียนไว้ประมาณ 1 ล้านคนเศษ ถ้ามีการล็อก จะได้รับผลกระทบหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องไปดูตัวกฎหมายที่เขียนขึ้นมาใหม่ เช่น อนุญาตให้ผลิตได้ขนาดไหน จะเป็นลักษณะของอุตสาหกรรม ลักษณะวิสาหกิจ หรือไม่ ต้องดูในรายละเอียด
“ถ้ากฎหมายออกมาอย่างไร อะไรที่เกิดขึ้นมาก่อนกฎหมายบังคับใช้ อาจจะต้องมีบทเฉพาะกาลขึ้นมารองรับ มิเช่นนั้น จะเป็นปัญหา เพราะว่าเดิมมีใบอนุญาตให้ปลูกในครัวเรือน 6 ต้น บ้าง 10 ต้น 15 ต้น บ้าง ถ้ากฎหมายใหม่ไม่มารองรับ ก็ต้องดูแลเขา ทำอย่างไรให้ไม่ผิด มิเช่นนั้นก็จะตกเป็นเหยื่อกันอีก” นพ.ชลน่านกล่าว