เครือข่ายป้องกันน้ำเมา จี้ รัฐบาลทบทวนขยายเปิดผับตี 4 ลั่น มีแต่นายทุนได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีภาคธุรกิจเตรียมเสนอให้มีการนำร่องกำหนดโซนเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ใน 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่และภูเก็ต ว่า ความพยายามผลักดันให้มีการขยายเวลาเปิดผับบาร์ เกิดขึ้นจากคนกลุ่มเดิมที่เดินหน้าเรื่องนี้มาในทุกรัฐบาล ซึ่งกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ แต่สำคัญของเรื่องนี้คือ ได้คุ้มเสียหรือไม่? รวมถึงความพร้อมเรื่องระบบขนส่งของประเทศมีความพร้อมรองรับเรื่องนี้แล้วหรือยัง โดยเฉพาะผู้ที่เมาแล้วขับรถ และการบังคับใช้กฎหมาย เก็บส่วยก็ยังมีเต็มไปหมด ดังนั้น ถ้ายังไม่จัดการเรื่องเหล่านี้ก่อน แล้วขยายเวลาเปิดผับบาร์ออกไป ปัญหาต่างๆ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ โดยข้อมูลช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงจะอยู่ระหว่าง 21.00 – 03.00 น. ซึ่งจะสัมพันธ์กันกับช่วงเวลาที่ขายแอลกอฮอล์ จากนั้นคนก็ขับรถ ฉะนั้นการขยายเวลาเปิดผับบาร์ ก็เท่ากับขยายเวลาการเมา ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อยู่ในภาวะมึนเมาไม่สามารถครองสติได้ นี่จึงเท่ากับรัฐกำลังส่งเสริมสิ่งที่ขัดแย้งกับกฎหมายของประเทศ

“สิ่งที่เราต้องคิดมากกว่านั้นคือความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่มาเสียชีวิตในประเทศไทยด้วยเหตุต่างๆ กว่า 400 คนต่อปี ดังนั้น ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ต้องขบคิดมากกว่าเรื่องการขยายผับบาร์ งานวิจัยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี2563 ก็พบว่านักท่องเที่ยวสนใจเข้าไทยเพื่อมาท่องเที่ยวด้านธรรมชาติเป็นอันดับต้นๆ ส่วนเรื่องกินดื่ม สถานบันเทิงอยู่อันดับท้ายๆ เลย สอดคล้องกับความพึงพอใจด้านร้านอาหารต่างๆ อยู่ที่ 85% ซึ่งถือว่าระดับสูงอยู่แล้ว ดังนั้น เราจะต้องทำให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยและการท่องเที่ยวนั้นเชื่อมโยงกับคนกลุ่มเล็กในชุมชน ไม่ใช่ให้นายทุนผับบาร์กอบโกยประโยชน์ อย่างนักท่องเที่ยวไปกินดื่มยันตี 4 จริง ตื่นมาก็ไปเที่ยวไม่ได้แล้ว คำถามคือ รายเล็กรายน้อยจะได้ประโยชน์ได้อย่างไร” นายชูวิทย์ กล่าว

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า คนไทยมีคนดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 16 ล้านคน ยังมีอีกหลายสิบล้านคนที่ไม่ดื่ม รวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วย รัฐบาลจะต้องดูแลคนส่วนนี้ด้วย ฉะนั้น หากเอาเรื่องการจับจ่ายด้านผับบาร์ในที่สุดแล้วกลุ่มทุนจะได้ประโยชน์ สังคมจะเสียหาย อย่างไรก็ตาม หากจะมีการทำเรื่องนี้จริง รัฐบาลจะต้องการันตีว่าเมื่อผ่านไป 2-3 ปี มีผลกระทบมาแล้วใครจะรับผิดชอบ ตนทำงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ อยู่กับคนที่เป็นเหยื่อ ดังนั้น ตนจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจน

เมื่อถามว่าหากมีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทางเครือข่ายฯ จะทำอย่างไรต่อ นายชูวิทย์ กล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลจะทำเรื่องนี้ต้องรอบคอบ โดยเฉพาะสายสาธารณสุข ทาง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ก็ดูเหมือนยังแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่เห็นด้วยทั้งหมด ดังนั้น ตนและเครือข่ายอาจจะหาโอกาสไปเข้าพบกับท่าน

Advertisement

“หากจะทำเรื่องนี้จริงๆ ต้องเชิญทุกฝ่ายมาหาจุดตรงกลางกันให้ได้ พวกเราไม่ใช่จะไม่ยอมอย่างเดียว แต่ต้องเอาความจริงมากางหน้ากระดาน อย่าหูเบาฟังคนบางกลุ่มที่มาเรียกร้องเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ เพราะ 1 ชีวิตที่สูญเสียเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่คุณค่าว่ามาเที่ยวไทยเพื่อมาเมากัน” นายชูวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image