สธ.รณรงค์ “กินเจ” เลือกผัก ผลไม้ ปลอดภัย ยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลัง 7 ขั้นตอน สร้างสุขภาพดี

สธ.รณรงค์ “กินเจ” เลือกผัก ผลไม้ ปลอดภัย ยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลัง 7 ขั้นตอน สร้างสุขภาพดี

วันนี้ (16 ตุลาคม 2566) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานตรวจเยี่ยมเสริมพลัง “กินเจ กินผัก ปลอดภัย ใส่ใจการล้างมือ” โดยมี นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหาร สธ. และเจ้าหน้าที่กรมอนามัย พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการ เข้าร่วมงาน ณ ลานเอาท์เล็ท สแควร์ เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

นายสันติ กล่าวว่า เทศกาลกินเจของทุกปี สิ่งที่ สธ.เน้นย้ำมากที่สุด คือเรื่อง สุขอนามัยการปรุงประกอบอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพราะร้านค้าจะนิยมปรุงอาหารเจในปริมาณมากวางจำหน่าย อาจพบความเสี่ยง เช่น อาหารที่ปรุงไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น การเลือกซื้ออาหารเจก่อนเลือกซื้อผู้บริโภคควรคำนึงถึงความสะอาด ความปลอดภัย คุณค่า และราคา รวมถึงการเลือกกินอาหารอุ่นร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันโรค

Advertisement

“นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรเลี่ยงอาหารที่มีแป้งและไขมันมาก อาหารเจส่วนใหญ่ ประกอบด้วย แป้ง ธัญพืช ถั่ว งา เต้าหู้ อาจทำให้ขาดโปรตีนและธาตุเหล็กได้ จึงควรเลือกพืชที่ทดแทนโปรตีน ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง โปรตีนเกษตร เต้าหู้ และผักใบเขียวเข้ม ซึ่งมีธาตุเหล็กสูง เลือกผักผลไม้ให้หลายสี เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุครบตามที่ร่างกายต้องการ และลด หวาน มัน เค็ม ควรเลือกกินอาหารจากร้านอาหารที่สะอาดผ่านมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย: Clean Food Good Taste สำหรับผักสด ผลไม้ โปรตีนเกษตร ต้องแน่ใจว่ามาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ โดยเลือกซื้อวัตถุดิบจากตลาดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ วิถีใหม่ ของกรมอนามัย จำนวน 1,565 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผ่านระดับดีและดีมาก จำนวน 1,351 แห่ง หรือร้อยละ 85.82 และตลาดที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการ อีกทั้งเครื่องปรุงรสต้องมีเครื่องหมาย อย. เครื่องหมาย มอก. เป็นต้น” นายสันติ กล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. กล่าวว่า ที่สำคัญ ก่อนกินหรือก่อนนำผักและผลไม้มาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาด
ทุกครั้งด้วย 3 วิธี 1.การล้างด้วยน้ำไหล สามารถลดสารพิษได้ ร้อยละ 25-65 ผักและผลไม้คงความสด 2.การล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดาช่วยลดสารพิษได้ถึง ร้อยละ 90-95 และ 3.การล้างด้วยน้ำส้มสายชู ช่วยลดสารพิษได้ ร้อยละ 60-84 และยังสามารถล้างไข่พยาธิได้

Advertisement

ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ และประชาชนควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ โดยยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลัง 7 ขั้นตอน คือ ล้างมือก่อนทำอาหาร และรับประทานอาหาร และ 5 หลัง หลังเข้าห้องส้วม หยิบจับ สิ่งสกปรก เยี่ยมผู้ป่วย สัมผัสหรือเล่นกับสัตว์
และหลังกลับมาจากนอกบ้านโดยการล้างมือทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันโรค ผู้ปรุง ผู้จำหน่ายควรใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารในระหว่างการเตรียมปรุงอาหารและจำหน่ายอาหาร เน้นการปรุงให้สุก ป้องกันการปนเปื้อนระหว่างอาหารดิบและอาหารสุกผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น มีด เขียง ฯลฯ และที่สำคัญคือ ปกปิดอาหารให้สะอาดเพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือแมลงไต่ตอม

“จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการล้างมือทั่วประเทศของกรมอนามัย โดย ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในช่วงวันที่ 1 – 9 ตุลาคม 2566 มีจำนวน 3,192 ราย พบว่าช่วงอายุ 25 – 54 ปี ล้างมือมากที่สุด ร้อยละ 57.72 ประชาชนมีการล้างมือทุกครั้งมากที่สุด หลังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น น้ำมูก น้ำลาย ขยะ ร้อยละ 95.90 รองลงมาคือ หลังออกจากห้องส้วม ร้อยละ 95.49 ก่อนเตรียม ปรุง ประกอบอาหาร ร้อยละ 90.70 และก่อนกินอาหาร ร้อยละ 87.31 เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจปี 2565 มีพฤติกรรมล้างมือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.27 , 0.94 และ 3.10 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่มีการล้างมือด้วยน้ำและสบู่มากที่สุด ร้อยละ 43.05 รองลงมาคือ ล้างด้วยน้ำ ร้อยละ 10.15 และทราบวิธีการล้างมือที่ถูกต้องว่ามี 7 ขั้นตอน ร้อยละ 78.01 และช่องทางการรับทราบวิธีการล้างมือที่ถูกต้องมากที่สุดคือ โปสเตอร์ ร้อยละ 14.57 และ Facebook ร้อยละ 10.71 ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญ วันล้างมือโลก ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2566 มือสะอาด อยู่ใกล้แค่เอื้อม : Clean hands are within reach จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มวัย ร่วมกันล้างมือถูกวิธี เพื่อสุขอนามัยที่ดี” พญ.อัจฉรา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image