“ชลน่าน” แสดงจุดยืนเปิดผับตี 4 ต้องคุมคนดื่มแล้วขับให้ได้ ชั่งน้ำหนักสุขภาพ-เศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำคณะผู้บริหารตรวจเยี่ยมกรมควบคุมโรค โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกรม ให้การต้อนรับ
นพ.ชลน่านกล่าวมอบนโยบายว่า โครงการเร่งด่วน (Quick Win) ภายใต้นโยบาย 30 บาทพลัส 13 ประเด็น ในส่วนของกรมควบคุมโรคมี 7 ประเด็น ที่อธิบดีรายงานชัดเจน โดยเฉพาะโครงการราชทัณฑ์ปันสุข โดยเฉพาะเรือนจำที่ไม่มีโรงพยาบาล (รพ.) ใหญ่รองรับ ได้ให้คำมั่นว่า กรมควบคุมโรคมีโครงการรองรับโรงพยาบาลแม่ข่ายที่จะประสานการดูแล ซึ่งผู้ต้องขังที่มีประมาณ 2.7 แสนคน สธ.ต้องให้การดูแลอย่างครอบคลุมตั้งแต่การคัดกรองจนถึงการออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
“เชื่อมั่นว่าบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขมีศักยภาพในการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ในส่วนของผมและรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.เป็นส่วนเสริมให้ทุกคนทำงานได้เต็มศักยภาพ ผมจะไม่ใช้คำว่าสั่งการ หรือออเดอร์ เพราะเป็นสิ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล แต่เป็นการมอบหมายงานและแนวทางปฏิบัติ แล้วก็จะให้ความสำคัญเรื่องขวัญกำลังใจ รวมถึงโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพ ผมก็ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งเรื่องสวัสดิการ สวัสดิภาพ แต่ขอให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มศักยภาพ” นพ.ชลน่านกล่าว
นอกจากนี้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า อยากฝากเรื่องการปรับแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรค ที่ผ่านมาในสถานการณ์โควิด-19 ได้เห็นถึงข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการควบคุมโรค ต้องอาศัยกฎหมายความมั่นคงเข้ามาควบคุม จึงฝากให้พิจารณาหากเกิดภาวะวิกฤตในอนาคต จะแก้กฎหมายให้เอื้อการทำงานอย่างไร รวมถึงอยากให้กรมควบคุมโรค จัดตั้งศูนย์ Day Care เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีบุคลากรกว่า 5,000 คน เป็นอีกแนวทางที่จะส่งเสริมการมีบุตรได้
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตัวชี้วัดของ SDGs มีทั้งหมด 17 ตัว ของเราที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ คือ การควบคุมวัณโรค และอุบัติเหตุจากการจราจร โดยแนวทางดำเนินการเรื่องนี้ มีเป้าหมายอยู่ เช่น ปี 2573 จะขจัดวัณโรค มีการป้องกัน ดูแล รักษา ฟื้นฟูสภาพจากอุบัติเหตุทางถนนก็มีอยู่
“ในมุมของเราที่จะลดได้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน กรมควบคุมโรคเป็นส่วนหนึ่ง เพราะอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดแค่พฤติกรรมบุคคล มีเรื่องสภาพถนน วิศวกรรม พฤติกรรมของมนุษย์ เครื่องจักรเครื่องยนต์ หลายปัจจัยเกี่ยวข้อง จึงต้องดูทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ของเราที่จะเน้นหนักคือ ก่อนเกิดเหตุ โดยให้ความรู้ความเข้าใจ มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับในภาวะเกิดเหตุ และขณะเกิดเหตุเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงทีอย่างไร จะมีกำหนดเวลาอยู่ในการถึงจุดเกิดเหตุ เป็นเกณฑ์วัดที่เราต้องทำ การส่งต่อผู้ป่วยไปดูแลรักษา” นพ.ชลน่านกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีอุบัติเหตุทางถนนยังเป็นปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากดื่มแล้วขับ แต่จะมีนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า การขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 จะกระทบอุบัติเหตุทางถนนหรือไม่ อาจมีความสัมพันธ์ทางตรง เพราะเหตุส่วนหนึ่งที่เจอคือ เมาหรือดื่มแล้วขับ หน้าที่เราคือ ทำอย่างไรจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนที่ดื่ม เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการขับยวดยานพาหนะ เป็นหน้าที่เราอยู่ตรงนี้ การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มาตรการควบคุมตรงนี้อาจจะต้องเข้มข้น สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้รับทราบและเกิดความตระหนักในการระมัดระวังในตัวบุคคล มีความเข้าใจป้องกันตนเองได้ ถ้ารู้ว่าตนเองดื่มก็ต้องไม่ฝ่าฝืนไปขับรถ
เมื่อถามว่า จุดยืนของ สธ.เป็นอย่างไรในเรื่องขยายเวลาเปิดผับบาร์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นมิติสุขภาพและเศรษฐกิจ ต้องสร้างความสมดุล เราส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนแต่ต้องไม่มีผลกระทบสุขภาพ ต้องชั่งน้ำหนักตรงนี้ มาตรการไหนที่จะป้องกันดูแลไม่ให้มีผลกระทบสุขภาพ ต้องใส่อย่างเข้มข้น