ภาคปชช.จี้ กก.พัฒนาระบบสุขภาพฯ ลดเหลื่อมล้ำให้ผู้ประกันตน

ภาค ปชช.จี้ กก.พัฒนาระบบสุขภาพฯ ลดเหลื่อมล้ำให้ผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมาการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุมพร้อมกันเป็นนัดแรกมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศไทย

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า สำหรับนโยบายยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาได้ทุกที่ จะต้องคำนึงถึงสถานพยาบาล เพราะหากเริ่มในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อน ก็มีความเป็นไปได้ เพราะใช้ระบบ “หมอพร้อม” แต่ด้วยสัดส่วน รพ.นั้น พบว่าอยู่ในสังกัดของ สธ. เพียงร้อยละ 70 ที่เหลือจะอยู่ในสังกัดของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ รพ.เอกชน ซึ่งจะใช้อีกระบบหนึ่งในการดูแลข้อมูลสุขภาพประชาชน ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย ดังนั้น การขับเคลื่อนเรื่องบัตรประชาชนใบเดียว จะทำได้ยากขึ้น แต่ในรัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการอนุมัติงบประมาณในการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวแล้ว ตนจึงขอสอบถามถึงงบส่วนนี้ว่า จะนำไปดำเนินการอย่างไรบ้าง

Advertisement

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวชี้แจงว่า ข้อสังเกตของนายกแพทยสภา เป็นสาเหตุที่ต้องมีการนำร่องนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ใน 4 จังหวัดก่อน เพื่อทำให้ระบบต่างๆ ที่อยู่ในและอยู่นอกสังกัด สธ.ได้เชื่อมต่อกันก่อน

“โดยจะมีการถอดบทเรียนจาก รพ.มหาวิทยาลัย ใน จ.นราธิวาส เพื่อเรียนรู้ว่า เราจะเชื่อมต่อกันอย่างไร เพื่อให้ 2 ระบบนี้เป็นเนื้อเดียวกัน และสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด” นพ.สุรพงษ์กล่าว

Advertisement

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับนโยบายยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ หรือยกระดับบัตรทอง ที่รัฐบาลขับเคลื่อนอยู่นั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงานมีกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะเป็นฝ่ายสนับสนุนต่อยอดนโยบายยกระดับบัตรทองอีกช่องทางหนึ่ง โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 มีจำนวน 14 ล้านคนเศษ มี รพ.หลัก 260 แห่ง รพ.เครือข่ายอีก 2,220 แห่ง ส่วนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่นอกเหนือจากบัตรทอง คือกรณีเกิดอุบัติเหตุและทุพพลภาพทางร่างกายมากกว่าร้อยละ 50 จะได้รับค่าชดเชยเป็นอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ 3 เดือนสุดท้าย ซึ่งจะเป็นการดูแลตลอดชีวิต กรณีการได้รับบาดเจ็บ ร้อยละ 35-50 สามารถรับเงินชดเชยเป็นอัตราเดียวกันแต่ดูแล 180 เดือน หรือ 15 ปี และกรณีเสียชีวิตจากการทำงาน จะได้เงินชดเชยตามอัตราการส่งเงินสมทบ

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ตนเป็นเหมือนตัวแทนหนึ่งเดียวของประชาชน จึงอยากขอเพิ่มตัวแทนจากฝั่งประชาชนในคณะกรรมการชุดนี้ เช่น กลุ่มคนรักระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น และว่า สนับสนุนแนวคิดของ น.ส.แพทองธาร และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ในปัจจุบัน และความแออัดในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะขณะนี้ยังมีประชาชนที่เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ที่ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำที่สุด จึงดีใจที่เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้ามาเป็นกรรมการด้วย

“ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบเรื่องสุขภาพและจ่ายเงินภาษี ดังนั้น เงิน 2 ส่วนนี้จึงเป็นความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ และยังมีประชาชนที่ถูกเรียกเก็บเงิน จึงหวังว่าการพัฒนาระบบสุขภาพฯจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพในส่วนนี้ สอบ.และกลุ่มประชาชนที่มีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพฯอีกอย่างน้อย 9 กลุ่ม ยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพฯให้มีความยั่งยืนและมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ประชาชนอยากเห็น” น.ส.สารีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image