สธ.เผยแรงงานไทยเจ็บจากอิสราเอลผ่าตัดที่ รพ.เลิดสิน อาการปลอดภัยแล้ว

สธ.เผยแรงงานไทยเจ็บจากอิสราเอลผ่าตัดที่ รพ.เลิดสิน อาการปลอดภัยแล้ว

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับข้อสั่งการจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. นำช่อดอกไม้เดินเข้าเยี่ยมแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบในประเทศอิสราเอลและเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสะโพกที่หักเนื่องจากตกจากที่สูงระหว่างการทำงาน ที่สถาบันออร์โธปิดิกส์โรงพยาบาล (รพ.) เลิดสิน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์

พญ.อัมพรเปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ.มีความห่วงใยและสั่งการให้ดูแล ติดตามแรงงานไทยที่ประสบภัยในประเทศอิสราเอล โดย 1 ในจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะโพกหัก เนื่องจากตกจากที่สูงระหว่างการทำงานมารักษาและผ่าตัด ที่สถาบันออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญขั้นสูงในด้านโรคกระดูกและข้อ จึงมอบหมายให้ตนเข้าเยี่ยม และแสดงความยินดีที่ได้กลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา

Advertisement

“ผลการผ่าตัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย ผู้ป่วยจะอยู่ในการดูแลและประเมินผลการรักษาอย่างดีต่อเนื่องต่อไปจนกระทั่งส่งตัวกลับไปดูแลต่อที่บ้าน สำหรับสภาพจิตใจของผู้ป่วยนั้น ทางโรงพยาบาลได้มีการส่งจิตแพทย์ดูแลรักษาเป็นระยะพบว่าผู้ป่วยมีสภาพจิตใจดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการ สธ.สั่งการให้ทุกหน่วยงานดูแลและรักษาสุขภาพคนไทย หากมีปัญหาทางด้านร่างกาย ส่งให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ตามความเชี่ยวชาญ และหากผู้ที่เดินทางกลับมามีปัญหาสุขภาพจิต จะมีกรมสุขภาพจิตดูแล เพื่อให้ทุกคนกลับสู่ภูมิลำเนาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด” พญ.อัมพรกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ รพ.เลิดสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า รพ.เลิดสิน มีการเตรียมพร้อมของคณะศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ในการดูแลรักษาแรงงานไทยอย่างทันท่วงที ลดการเกิดภาวะทุพพลภาพในอนาคต โดยการการจัดทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมไว้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยาต่างๆ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลอย่างใกล้ชิด ตามนโยบายของ สธ.เพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อตามมาตรฐาน

“สำหรับการรักษากระดูกสะโพกหัก เป็นภาวะที่จำเป็นต้องรักษาโดยเร่งด่วน ส่วนมากเกิดกับผู้สูงอายุที่หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ จำเป็นต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เนื่องจากกระดูกสะโพกตาย วิธีที่รักษากระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด หากทิ้งช่วงเวลาในการผ่าตัดนานอาจ มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับผู้ป่วยสูง อาทิ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ เดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีแผลกดทับ นำไปสู่การเสียชีวิต การผ่าตัดดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว” นพ.อดิศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image