ส.ก.จัดหนัก! ยกสถิติ ‘รถ EV ไฟลุก’ ดับแล้วยังปะทุ- รองผู้ว่าฯ แจงแผน ‘เฮียล้าน’ โต้ ทำจริงไม่เหมือนทฤษฎี

ส.ก.จัดหนัก! ยกสถิติ ‘รถ EV ไฟลุก’ ดับแล้วยังปะทุ- รองผู้ว่าฯ แจงแผน ‘เฮียล้าน’ โต้ ทำจริงไม่เหมือนทฤษฎี

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร ส.ก.ทั้ง 50 เขต มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ ครั้งที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2566 ในช่วงหนึ่งของการประชุม นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ พรรคเพื่อไทย ยื่นเสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครจัดทำแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดเหตุไฟไหม้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า ตนขอนิยามเรียกชื่อ “รถไฟฟ้า” ขอให้เข้าใจตรงกันว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ไม่ใช่รถไฟฟ้า BTS MRT หรือ รถไฟฟ้าโมโนเรล และหากใช้คำว่า “รถเครื่องยนต์” หมายถึงรถสันดาป ซึ่งเป็นรถยนต์ทั่วไปในอดีต

“การอภิปรายครั้งนี้ จะมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ต้องพูดก่อนเลยว่ากระแสรถไฟฟ้า หรือ รถ EV มันมีมาอย่างต่อเนื่อง ทุกคนคงทราบอยู่แล้ว ไม่ว่ายอดขายที่โตขึ้น ทั้งรัฐบาลเปิดกว้างให้หลายค่ายมาลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงหลายเมืองใหญ่ของโลก อย่างลอนดอน อีกไม่กี่ปีจะแบนไม่ให้รถสันดาปเข้าเมืองได้ คล้ายกับญัตติของท่าน พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ที่ยื่นญัตติเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว กรณีห้ามรถโดยสารเข้าเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงประเทศนอร์เวย์ที่แทบจะเป็นเมืองหลวงของรถไฟฟ้า อย่าง Tesla เลย” นายกิตติพงศ์กล่าว

Advertisement
กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า การตระหนักถึงเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเติบโตขึ้นทั่วโลกอย่างมีนัยยะ แต่ข่าวดีที่สองคือ รถ EV มีเหตุเกิดเพลิงใหม่อยู่เรื่อย แต่โอกาสเกิดเพลิงไหม้เมื่อเทียบกับรถสันดาป น้อยกว่า 20 เท่า ส่วนเรื่องที่ 3 แม้จะมีเรื่องไฟไหม้แต่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นทุกวัน

“หลายปีก่อนตั้งโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง เคยระเบิดขึ้นจนต้องเรียกคืน ห้ามเอาขึ้นเครื่องบิน พอค่ายรถ ค่ายมือถือ บริษัทแบตเตอรี่ ได้ประสบกรณ์จากเรื่องนี้แล้ว ก็ทำให้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ปลอดภัยขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดเหตุเพลิงไหม้เลย” นายกิตติพงศ์ชี้

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า สำหรับข่าวร้าย คือ เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ ไม่ว่าจะเป็นรถรถยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่มันไหม้หนักและไหม้นาน เพราะโครงสร้างของแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของลิเทียม ที่มีโครงสร้างของเหล็กมาหุ้มไว้

Advertisement

“ส่วนข่าวร้ายเรื่องที่ 2 คือ มันจะไม่เหมือนรถสันดาป มันจอดเฉยๆ ไฟก็ลุกได้ จอดเฉยๆ ไฟก็ไหม้ได้ มีตัวเลขยืนยันแล้วว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น สูงสุดที่ประเทศจีน เกิดจากรถที่จอดอยู่นิ่งๆ จอดอยู่เฉยๆ ส่วนข่าวร้ายที่ 3 คือ มันดับยาก แล้วยังอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน สิ่งแวดล้อม เพราะควันจากแบตเตอรี่มีพิษ และสุดท้ายที่เป็นไฮไลต์ของญัตตินี้เลย คือ มันอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่ไปดับเพลิง” นายกิตติพงศ์กล่าว

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า ยอดจดทะเบียนรถ EV ในประเทศไทย แค่เดือนที่แล้ว 6,525 คัน ตัวเลขก็เติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งปีนี้ก็จะมีอีก 2-3 ค่าย เปิดตัวอีกหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร รถมอเตอร์ไซค์ รถสกู๊ตเตอร์ ซีดาน รถ SUV ตัวเลขที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากรุงเทพมหานคร จะมีรถ EV มากที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น

“พอ EVมากขึ้น ความเสี่ยงก็มากขึ้น 6,000 กว่าคัน ให้ผมเดาเล่นๆ อยู่ในกรุงเทพฯ ก็น่าจะ 1,000 กว่าคัน ข้อมูลปี 2563-2564 ใน 2 ปี เกิดเหตุเพลิงไหม้รถ EV ที่จีน 86 ครั้ง ตกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่พอปีที่แล้วแค่ไตรมาสแรกของปี ตัวเลขพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 640 ครั้งใน ไตรมาสเดียว แปลว่า 1 วันที่จีน มีโอกาสเกิดไฟไหม้รถ EV สูงถึง 7 ครั้งต่อวัน” นายกิตติพงศ์ชี้

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า เราแยกสาเหตุการไหม้ของรถ EV ได้ 4 อย่าง อย่างแรก จอดเฉยๆ ก็ไหม้ได้ เพราะยังทำงานอยู่ เช่น ระบบกล้องรอบคัน ระบบเปิดแอร์อัตโนมัติเมื่อรถร้อนเกิดไป นี่คืออีกหนึ่งสาตุของการเกิดเพลิงไหม้รถ EV สาเหตุต่อมาคือ ไฟไหม้ขณะชาร์จ มันจะมีเรื่องอุณภูมิเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนที่ 3 คือ ไฟไหม้ขณะขับรถ เพราะขณะที่ใช้งานอุณหภูมิสูงขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้แบตเตอรี่ขึ้นได้ สุดท้ายคือ ไฟไหม้หลังเกิดอุบัติเหตุการชน แม้จะเกิดขึ้นน้อยแต่ก็เกิดขึ้นได้

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า ตัวเลขจากทางยุโรป ระบุว่า อัตราการเกิดเพลิงไหม้รถ EV น้อยกว่ารถสันดาป 20 เท่า ไม่ว่าจะเกิดจากการชน การจอดอยู่เฉยๆ หรืออะไรก็ตาม แต่ความยากในการดับเพลิงรถ EV ถ้าได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง จะทราบว่ามันไม่ได้ใช้เวลาเพียงครู่เดียวก็ดับได้

“มันใช้เวลาทั้งวันในการดับ เหตุผลคือ ช่วงหลังมารถ EV แท้ เขามักจะใช้แบตเตอรี่ไปอยู่ใต้ท้องรถ ก็จะมีโครงสร้างที่เป็นเหล็กมาหุ้มไว้อีกทีหนึ่ง คราวนี้เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ จะมีแร่ที่อยู่ข้างใน ไปโดนกับของเหลวที่อยู่ตรงนั้น พอไฟลุกแล้ว ก็จะลุกอยู่ภายในตัวเซลล์ของมัน

ประเด็นคือเวลาดับเพลิง ฉีดน้ำจากข้างบนเวลามันไหลลงมา แต่มันไม่ได้ซึมไปถึงแบตเตอรี่เลย แล้วพอมันไหม้ลุก 1 เซลล์ มันก็มีโอกาสที่จะไหม้เซลล์ถัดๆ ไปด้วย บางประเทศเขามีสว่าน เขาจะรีบเจาะจากข้างใต้ ขึ้นไปถึงชั้นแบตเตอรี่เพื่อฉีดน้ำ เพราะมันลุกไหม้จากข้างใต้ ไม่ได้ลุกจากข้างบน” นายกิตติพงศ์กล่าว

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า บางที พอดับแล้วอีก 2-3 ชั่วโมงก็ไฟลุกขึ้นมาอีก เพราะแร่ข้างในมันยังมีความอุ่นอยู่ เมื่อของเหลวไหลมาเจอมันก็ลุกไหม้อีก และไม่ใช่การลุกไหม้แค่วันเดียว แต่จากข้อมูลที่ตนหามา แบตเตอรี่สามารถทำให้ระอุได้อีกหลายวัน

“ถ้าเทียบกับการดับเพลิงรถที่เราใช้กัน วันนี้เราดับแล้ว มั่นใจแล้วว่ามันมอด ไม่ระอุ ฉีดน้ำเลี้ยงแล้วก็จะขนไปที่จุดพักรถ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น รถ EV สามารถเกิดเพลิงไหม้อีกที สูงสุดได้ภายในถึง 7 วัน” นายกิตติพงศ์ชี้

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า ความยากที่สุดคือ รถ EV แต่ละยี่ห้อ แบตเตอรี่ไม่ได้อยู่ข้างล่างเท่านั้น บางยี่ห้ออยู่ท้ายรถ หรืออยู่ข้างใต้สูงขึ้นมาถึงบริเวณเบาะนั่ง ซึ่งจะเกี่ยวกับความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในการดับเพลิง ว่ามีความเข้าใจมากขนาดไหน

“ผมมีโอกาสได้ถามเจ้าหน้าที่ ว่าปัจจุบันรถ EV มีกี่ยี่ห้อ มีกี่รุ่น มีกี่ประเภท อันนี้ต้องชมฝ่ายบริหารไม่รู้ว่า ในยุคผู้ว่าฯ ปัจจุบันหรือที่ผ่านมา มีการอบรมแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมทราบเพิ่มขึ้นมาคือ เขาบอกว่าพี่เห็นรถออกใหม่ทุกเดือนเลย พี่ไม่รู้ว่าจะดับเพลิงอย่างไร เขาบอกไม่ทราบ ซึ่งปกติจะต้องให้การไฟฟ้าตัดไฟก่อน แล้วเขาถึงจะดับไฟให้” นายกิตติพงศ์เผย

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า ตนมีคำไปถึงฝ่ายบริหารที่ผ่านมา แม้จะไม่ใช่กระทู้สด แต่เรื่องการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ครบทุกยี่ห้อ ครบทุกรุ่นหรือไม่ หรือผู้ผลิตทั้งหลายที่จะเอารถมาจดทะเบียนใน กทม. มีการได้คุยกับ กทม.บ้างหรือไม่ ว่าระบบรักษาความปลอดภัยอยู่ตรงไหน การดับเพลิงรถนี้เป็นอย่างไร

นายกิตติพงศ์กล่าว่า ฉะนั้นที่เราพูดไป เห็นแต่ปัญหาเต็มไปหมด ทุกวันนี้ กทม.ได้ให้ความรู้กับประชาชนหรือไม่ สมมติถ้าเกิดไฟไหม้ สิ่งหนึ่งที่ควบคู่กับคนไทยมาตลอด คือ ไทยมุง

“สมมติไฟไหม้จกาข้างล่าง สภา กทม.ขึ้นมา พวกเราอยู่ในห้องประชุมนี้ เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ได้สูดดมอากาศที่ก่อให้เกิดมะเร็งแล้ว แล้วจะสอนประชาชนเขาอย่างไร แล้วจะมีวิธีป้องกันเขาอย่างไร” นายกิตติพงศ์กล่าว

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้ ยอดขายเพิ่มขึ้น ทุกคนคิดถึงการประหยัด การรักโลก แต่เราเองในฐานะ กทม. เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องมาพูดเรื่องนี้ไว้ก่อน ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

“โดยการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมา ศึกษาการเปลี่ยนรถราชการเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่เรามีรถยนต์ไฟฟ้าเพียงแค่คันเดียว ไม่ใช่รถไฟฟ้าแท้ แต่เป็นรถยนต์ Hybrid อยู่ที่เขตดอนเมือง แต่อีก 49 เขตไม่มี” นายกิตติพงศ์ชี้

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า เมื่อพูดคุยหลายเรื่องกับ ส.ก.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ มีความกังวลและเป็นห่วงในคณะนี้ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการดับเพลิง แต่ยังมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย infrastructure หรือความพร้อมต่างๆ

“อย่างที่ผมได้แจ้งไป อาจจะเป็นตัวแทนของ 49 ท่านพูด ว่ามันอันตราย เราอยากใช้พื้นที่สภาแห่งนี้ บอกกับฝ่ายบริหารว่าเราได้บอกแล้ว จะได้ไม่เป็นการวัวหาย แล้วค่อยล้อมคอกอีกในอนาคต ฉะนั้นหากฝ่ายบริหารริแนวทางเชิงรุกเกี่ยวกับการเกิดเพลิงไหม้รถ EV เพื่อป้องกัน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกทั้ง 76 จังหวัดในประเทศอีกด้วย” นายกิตติพงศ์กล่าว

นายกิตติพงศ์กล่าวอีกว่า สุดท้ายในเรื่องรถ EV จะมีนโยบบายเชิงรุกอย่างไร เพราะท่านก็คงปรับในงบประมาณปีหน้าแน่นอน เราจะเห็นรถ EV ของ กทม.มากขึ้น ก็หวังว่าคงจะไม่เกิดเหตุน่าเศร้า ถ้าเราป้องกันไว้ก่อน

น.ส.ทวิดา กมลเวชช

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แนวปฏิบัติกรณีเกิดเหตุไฟฟ้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ขณะนี้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อบรมและฝึกเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันและเผชิญเหตุแล้ว ซึ่งจากสถิติเหตุเพลิงไหม้รถพลังงานไฟฟ้าพบว่าเพิ่มมากขึ้นจริง ถึงแม้สถิติเพลิงไหม้รถพลังงานไฟฟ้าจะน้อยกว่าเหตุเพลิงไหม้จากยานยนต์ประเภทอื่น แต่พบว่าต้องใช้ปริมาตรน้ำที่มากกว่า และดับยากกว่า ทำให้ต้องมีสารเคมีและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป

“กทม.จึงได้ประชุมหารือร่วมกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์และผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับแนวทางการกำกับมาตรฐาน กำหนดมาตรการความปลอดภัยจากการใช้รถแบตเตอรี่ไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟในพื้นที่ กทม. ได้ข้อสรุปให้จัดตั้งคณะทำงาน 3 คณะ เพื่อดูแล 3 เรื่อง คือคณะที่ 1 ดูแลเรื่องกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบ และแผนงานที่เกี่ยวข้อง คณะที่ 2 ดูแลด้านการเผชิญเหตุ อาทิ การกู้ภัยตามมาตรฐาน NFPA1600 การกู้ชีพตามมาตรฐานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) การดูแลด้านทรัพยากรการกู้ภัย คณะที่ 3 ดูแลด้านข้อมูลและประชาสัมพันธ์ การนำเข้าข้อมูล Risk Map การประชาสัมพันธ์ในทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน” น.ส.ทวิดากล่าว

น.ส.ทวิดากล่าวอีกว่า ในส่วนของแผนปฏิบัติการเผชิญเหตุ กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ยานยนต์ไฟฟ้า มีทั้งขั้นตอนก่อนเกิดเหตุ ได้แก่การเตรียมพร้อม โดยจัดทำแผนปฏิบัติงานการกู้ภัยทางถนน มาตรฐานรถ วัสดุ อุปกรณ์ในการกู้ภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายปฏิบัติการ และการป้องกัน โดยกำหนดจุดติดตั้งการเติมประจุไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เหมาะสม และปลอดภัย การจัดเก็บฐานข้อมูลรถพลังงานไฟฟ้าจากภาคเอกชนและแนวทางปฏิบัตินำเข้าสู่ระบบการจัดเก็บฐานข้อมูล BKK Risk Map

“การรณรงค์ให้ความรู้ ข้อมูลและแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ใช้ ขั้นตอนขณะเกิดเหตุ ได้แก่ การรับแจ้งเหตุ ผ่านสายด่วน 199 การจัดกำลังบุคลากรร่วมกับภาคีเครือข่าย และการจัดหารถกู้ภัย รถกู้ชีพ อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับกู้ภัย การปฏิบัติการเมื่อเกิดเหตุ โดยประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์การเข้าถึงและขั้นตอนหลังเกิดเหตุ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน สำหรับการกำจัดแบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น กทม.อยู่ระหว่างการศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับการกำจัดแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม” น.ส.ทวิดากล่าว

ด้าน นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร หรือ เฮียล้าน ส.ก.เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไฟไหม้รถ EV ในอาคารจอดรถสนามบินที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีหน่อยคงประกาศห้ามรถ EV มาจอดเหมือนในเยอรมันแน่นอน ส่วนบริษัทประกันภัย ไม่อยากจะรับประกันรถไฟฟ้า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ

“ถ้าเกิดขึ้นมาแบบนี้เราจะทำอย่างไร ผมว่ารองผู้ว่าฯ ที่พูด ไม่แน่ใจว่าในภาคปฏิบัติจะทำได้หรือเปล่า ภาคปฏิบัติเป็นเรื่องที่สำคัญ ทฤษฎีกับภาคปฏิบัติไม่เหมือนกัน บางคนเก่งในชั้นเรียน แต่ว่าการทำจริงอาจจะทำไม่ได้ก็ได้ ทีนี้มันคือเรื่องจริง ผมเรียนในห้องก็อย่างนี้

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร

ผมอยากจะฝากท่านประธานไปยังผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นในกรุงเทพก็ได้ มันไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เวลาเกิดแล้วมันต้องเตรียมป้องกัน มีมาตรการอย่างไร ระบบชาร์จ ระบบความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนต้องทำอย่างไร ในขณะที่วิ่ง รถชนกันจะเป็นอย่างไร เพราะมันอาจระเบิดอย่างรวดเร็วและรุนแรง มันจะมากกว่า 1 ตัน เพราะแบตเตอรี่มีความหนัก” นายสุทธิชัยกล่าว

นายสุทธิชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด ตนอยากให้สำนักป้องกันฯ บอกว่าในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร ตอบให้ชัดเจน ไม่ใช่ตอบแบบนักวิชาการ

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์

ด้าน นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า แนวทางการดับเพลิงแบตเตอรี่รถพลังงานไฟฟ้า กทม.มีอุปกรณ์พร้อม และมีการอบรมเทคนิคในการดับเพลิงรถ EV และบ้านเรือนที่ใช้โซล่าร์เซลล์ โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมกันถอดบทเรียนจากที่เกิดเหตุเพื่อมานำมาแก้ไขจุดบกพร่อง

“ที่ผ่านมาพบว่ามีเหตุเพลิงไหม้บริษัทที่ใช้แบตเตอรี่ 2 แห่ง และสามารถดับเพลิงได้ดี แต่ใช้เวลานาน ซึ่งบทเรียนทั้งหมดนี้จะนำมาใช้เป็นหลักสูตรเพื่อทบทวนให้กับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในทุกปี นอกจากนี้ สปภ.ยังอยู่ระหว่างการจัดหารถกู้ภัย จำนวน 15 คัน และรถยกเพื่อย้ายรถ EV เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน” นายธีรยุทธกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image