ชัชชาติ เกือบหัวคะมำ นั่งวีลแชร์เทสต์ ‘ฟุตปาธบางนา’ ย้ำเลขาฯ ของานละเอียด ดูยิบทุกเซ็น

‘ชัชชาติ’ ไปแทบไม่เป็น นั่งวีลแชร์เทสต์ ‘ฟุตปาธบางนา’ ร้องเพลงศรัทธา เกือบหัวคะมำ ย้ำเลขาฯ ของานละเอียด ดูทุกเซ็น

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่เขตบางนา กรุงเทพฯ นายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท นักร้องชื่อดัง เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านทางช่อง Suthipongse Thatphithakkul ขณะลงพื้นที่ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมด้วย นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และพิธีกรรายการกฤษนะทัวร์ยกล้อ โดยมี นายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล ร่วมด้วย

โดย นายชัชชาติ ได้ทดลองนั่งรถเข็นผู้พิการลงพื้นที่สำรวจฟุตปาธในเขตบางนา บริเวณถนนลาซาล-บางนา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในบางช่วง นายชัชชาติและคณะ ไม่สามารถนำรถเข็นขึ้นขอบฟุตปาธอีกฝั่งหนึ่งได้ จึงต้องเบี่ยงมาสัญจรบนถนนแทน นอกจากนี้ ในบางช่วง นายชัชชาติยังติดร่องปูนของถนน จนต้องกระดกล้อเพื่อให้ข้ามพ้นรอยร้าว กระทั่งผู้ร่วมคณะรายหนึ่งกล่าวว่า “อย่าว่าแต่ 2 ล้อ มอเตอร์ไซค์ก็เหนื่อย”

ทั้งนี้ บรรยากาศระหว่างการทดสอบทางเท้าภายในซอย นายชัชชาติได้เปล่งเสียงร้องเพลง “ศรัทธา” ของ หิน เหล็ก ไฟ ร่วมกับคณะอย่างคึกครื้น

Advertisement

นายกฤษณะกล่าวว่า ด้วยความที่ฟุตปาธทางเท้ารถเข็นไปลำบาก จึงพานายชัชชาติ มาทดสอบด้วยตนเอง

“ไปไม่ได้เลย วันนี้เลยให้ผู้ว่ามาสำรวจและรับรู้ปัญหาด้วยตัวท่านเอง บางทีเดินสำรวจก็ไม่เข้าใจ ไม่เหมือนนั่งบนรถเข็นเมื่อก่อนผมเองก็ไม่รู้ว่าคนนั่งรถเข็นลำบากขนาดไหน” นายกฤษณะกล่าว

Advertisement

ด้าน นายชัชชาติกล่าวว่า ง่ายๆ แค่นี้ยังไปไม่ได้เลย

“ขนาดบนถนน ฟุตปาธไม่ต้องพูดถึงเลย เข้าใจจิตใจของผู้ติดล้อ ต้องลงมาเดิน” นายชัชชาติกล่าว

ก่อนเรียก นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มากำชับว่า การซ่อมแซมทางเท้า งานต้องละเอียด

“งานละเอียดนะ ต้องลงละเอียด ต้องเดินจุดเล็กจุดน้อยแบบนี้ปล่อยไม่ได้ คือถ้าล้มไปไม่มีใครช่วย ล้มไปจะขึ้นมาบนรถเข็นได้ไง ถ้าบางทีมาคนเดียวเสร็จเลย ทีมงานต้องละเอียด จุดนิดเดียวไม่กี่เซ็นก็สะดุดแล้ว ต้องเดินสำรวจ” นายชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ นายสุทธิพงศ์ หรือ ฮาร์ท ร่วมสะท้อนมุมมองจากการได้ร่วมลงพื้นที่สำรวจทางเท้าที่ถนนลาซาล-บางนา โดยในช่วงท้ายหลังจบการสำรวจ นายสุทธิพงศ์สัญจรด้วยรถล้อเดียวกลับบ้าน ระหว่างทางพบว่าบนถนนรัชดาภิเษก ในเขตจตุจักร ทางเท้าไม่สามารถใช้รถเข็นผู้พิการได้เนื่องจากค่อนข้างแคบ และเส้นทางไม่ต่อเนื่อง จากนั้นเมื่อถึงสถานีรถไฟฟ้า MRT สามยอด ก็พบว่าไม่มีทางลาดสำหรับผู้ใช้รถเข็นเช่นกัน จึงต้องยกรถล้อเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image