‘หมอธีระวัฒน์’ พร้อมชน กก.สอบสวน ปมยุติการศึกษาค้างคาว ยันทำถูกต้องเพื่อรักษาคนส่วนใหญ่

‘หมอธีระวัฒน์’ เปิดหน้าสู้ กก.สอบสวน ปมยุติการศึกษาค้างคาว ชี้ ยังมีหน่วยงานในไทยที่ยังรับทุนทำต่อ ยันพร้อมรับผลที่เกิดขึ้น พร้อมแฉเบื้องหลังเชื้อโควิด-19 หลุด 

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้การต่อคณะกรรมการสอบสวน กรณีที่ศูนย์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ ยุติการศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาว โดยมีประชาชนเข้ามาให้กำลังใจกว่า 60 คน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การสอบสวนครั้งนี้ไม่ได้ระบุว่าจะสอบสวนประเด็นใดบ้าง ซึ่งผิดปกติของการสอบสวน แต่ตนเชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการสอบนี้เกิดจากการที่ศูนย์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ ที่ตนเป็นผู้อำนวยการนััน ได้ประกาศยุติการศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาวว่ามีแนวโน้มจะเข้าในมนุษย์ได้หรือไม่ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2011 ผ่านความเห็นชอบจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้ทุนวิจัยจากองค์กรต่างประเทศ โดยตนถือเป็นผู้รับผิดชอบกรณีที่เกิดความผิดพลาด จนกระทั่งตัดสินใจยุติโครงการเมื่อปี 2020 และได้ทำรายงานแจ้งไปทางคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ เมื่อปี 2021 และแจ้งไปยังเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก (WHO) จึงเชื่อมั่นว่ากระบวนการขั้นตอนการยุติการร่วมโครงการเป็นไปตามระเบียบ

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องยุติการร่วมโครงการเพราะเรามีความเชื่อว่าการศึกษาเชื้อไวรัสที่ไม่ทราบชื่อมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อดูแนวโน้มว่าจะเกิดโรคได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้เพาะไวรัสให้มีการเพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และเราก็ไม่ได้ส่งไวรัสเหล่านี้ไปต่างประเทศ

“ย้อนไปเมื่อปี 2019 มีการทาบทามจากองค์กรที่ชื่อว่า Ecohealth Alliance ที่ได้รับทุนมาจากสหรัฐอเมริกา องค์กรนี้ได้มาติดต่อเรา ว่าจะให้เราร่วมตั้งเป็นศูนย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราต้องนำไวรัสที่เก็บเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงไวรัสที่ต้องเก็บใหม่ ส่งไปยังต่างประเทศ เพื่อศึกษาว่าไวรัสสามารถเข้าในมนุษย์ได้หรือไม่ หรือทำให้เกิดโรคหรือไม่ ซึ่งหากการศึกษาเข้าได้ไม่ดีก็จะมีการตัดต่อพันธุกรรมเพิ่มเพื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่เราตัดสินใจทำลายตัวอย่างทั้งหมด ปริมาณเยอะมาก มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการตรวจโควิด-19 เยอะมาก ดังนั้นเราเริ่มที่จะทำลายเชื้อในปี 2022 โดยจะต้องไม่กระทบกับตัวอย่างอื่นในการศึกษาวิจัยที่ไม่อันตราย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Washington Post เพื่อถามถึงสาเหตุผลของการยุติศึกษาไวรัสจากค้างคาว เราได้ตอบไปในประการแรกว่า เราไม่พบประโยชน์ในการคาดคะเนว่าเชื้อจะเข้ามนุษย์ได้หรือไม่ และ ประการที่ 2 คือความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อในขณะที่ลงพื้นที่นำเชื้อมาศึกษา รวมถึงการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งก็เป็นความกังวลว่าอาจจะมีการติดเชื้อในชุมชนและทั่วไปได้ จึงทำให้เราเริ่มทำลายตัวอย่างเชื้อ ตั้งแต่เดือน มี.ค. – เม.ย แล้วต่อมาเราก็ได้ทราบว่าทาง รพ.จุฬาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเดือน ก.ค.

Advertisement

“ต้องถามว่าการกระทำในลักษณะนี้เป็นการป้องกันอันตรายอย่างเข้มงวดไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทย เราไม่ต้องการให้มีการระบาดแบบอู่ฮั่น 2 ซึ่งขณะนี้พบความเชื่อมโยงวันเกิดโควิด-19 จากเครือข่ายเหล่านี้โดยการให้ทุนของสหรัฐกับประเทศต่างๆ รวมถึงสถาบันวิจัยไวรัสในอู่ฮั่น และหลังจากที่ประเมินแล้ว โควิด-19 นั้นไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจากธรรมชาติ แต่หลักฐานทั้งหลายพุ่งตรงไปที่มีการตัดต่อพันธุกรรมและหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการ เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเองแต่เป็นเรื่องของการสืบสวนจากสภาคองเกรส (United States Congress) ซึ่งเป็นที่รับทราบการในสื่อมวลชนทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็มีการสอบสวนบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ทุนเรา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวต่อว่า หลังจากที่เราทำลายตัวอย่างเหล่านี้หมด ก็ยังมีการติดต่อมาขอตัวอย่าง ทำให้เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการเอาตัวอย่างไปศึกษาต่อ หรือส่งต่อไปต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตัดต่อพันธุกรรมหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้วเกิดการระบาดในต่างประเทศ แล้วมีการสืบสวนมาว่าเชื้อนั้นมาจากประเทศไทย ก็จะทำให้ประเทศเราตกเป็นผู้ต้องหาและต้องรับผิดชอบต่อการเกิดโรคระบาดครั้งใหม่ ซึ่งการสอบสวนในวันนี้ตนจะเอาหลักฐานทั้งหมดให้กรรมการรับทราบและพิจารณาว่าต้องยุติความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เหล่านี้โดยเด็ดขาด ซึ่งขณะนี้มีการฝังตัวอยู่ในหน่วยงานของคณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ และหน่วยงานของสภากาชาดไทย ที่มีส่วนในการตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดโควิด-19 ขึ้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

เมื่อถามว่าพอจะบอกได้หรือไม่ว่ามีกี่หน่วยงานที่ยังมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาไวรัสในประเทศไทย ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะต้องถามทางคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ และผอ.รพ.จุฬาฯ ที่มีการเซ็นสัญญากับต่างประเทศไว้ ซึ่งทุนการศึกษานี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย แม้ว่าไม่มีการประกาศว่าจะมีการตัดต่อพันธุกรรม แต่มีประเด็นซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ ซึ่งเราเรียกร้องให้ยุติโดยเด็ดขาด

“ตัวผมเองอาจจะถูกตัดสินให้ออกจากปฏิบัติการในคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ แต่เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญเท่ากับประชาชนทุกคนต้องรับทราบความจริงและต้องติดตามต่อให้ยุติโดยด่วน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่ต้องมาเปิดหน้าชนในวันนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า หากไม่เปิดหน้าชนก็เสื่อมเสียต่อชื่อเสียง ซึ่งตนได้ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ แม้กระทั่งในวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ฉีดรอบสะดือ คณะของเราเป็นคนที่ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เปลี่ยนการฉีดวัคซีนรอบสะดือ มาเป็นการใช้วัคซีนฉีดเข้าทางผิวหนังแทน

เมื่อถามว่ามีข่าวว่าจะมีการยุบศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า เป็นเพียงการคาดการณ์จากผลของการสอบสวนวันนี้ ก็อาจจะนำไปสู่การยุบศูนย์ฯ เพื่อนำศูนย์ ไปเป็นฐานปฏิบัติการในการเก็บไวรัส และการส่งออกนอกประเทศโดยผ่านหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานทางการแพทย์และหน่วยงานทางการศึกษา

ด้าน นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ แพทย์หู คอ จมูกและศัลยกรรม กล่าวว่า วันนี้ตนมาให้กำลังใจคุณหมอธีระวัฒน์ และพร้อมรับฟังเหตุผลจากคณะกรรมการที่สอบสวนเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เราก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากคุณหมอเองได้ดูแลสังคม เป็นนักวิชาการที่ทุ่มเท เป็นนักวิชาการที่ดี อย่างเช่นที่คุณหมอต่อสู้การใช้สารเคมียาฆ่าแมลงที่เป็นผลต่อสุขภาพมาก คุณหมอได้ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร ซึ่งเป็นผลดีของประเทศในการลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น

“ความดีท่านมีเยอะ แต่ในการทำงานของคนดีๆ เราไม่ได้เอาความถูกใจหรือไม่ถูกใจ เราความถูกต้องเป็นหลักซึ่งจะต้องมีเหตุผลสนับสนุน แล้วสาธารณชนก็จะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่เพราะอาจารย์ท่านมีเหตุผลและตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัมมาทิฏฐิ แล้วพวกเราคงไม่แก่เกินในการใช้วิจารณญาณว่าสิ่งใดที่อาจารย์ทำแล้วถูกพิจารณา ซึ่งระดับท่านก็ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับใคร” นพ.กุศลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image