กทม.จัดเต็ม 9โปรเจ็กต์ ต้นปีหน้ารอดู ‘ฟุตปาธสวยๆ’ ดีไซน์เท่าเทียม มี ‘ทางเดิน-ปั่น’ ร่วมกัน

กทม.จัดเต็ม 9 โปรเจ็กต์ ลั่นต้นปีหน้า ได้เห็นฟุตปาธโฉมใหม่ ‘ยูนิเวอร์แซลดีไซน์’ มี ‘ทางเดิน-ปั่น’ ร่วมกัน

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นตัวแทน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2566 เนื่องจากผู้ว่าติดภารกิจ

นายเอกวรัญญูกล่าวว่า การประชุมวันนี้มี 5 ประเด็นหลัก 1 ในนั้น คือประกันข้าราชการ กทม. ที่เป็นนิมิตรหมายอันดี มีเอกชนมาเข้าร่วม อีกประเด็นคือการแก้ไขปัญหาทางเท้า ซึ่ง นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ ทำมาค่อนข้างมากแล้ว อย่างเช่น Bangkok Trail ที่ตั้งเป้าให้ได้ถึง 500 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้ทำไปแล้วหลายพื้นที่

Advertisement

“ที่กำลังทำอยู่ มีรายละเอียดเยอะ เช่น ถนนราชประสงค์ ไปจนถึงเพลินจิตที่จะต้องเร่งทำ รวมถึงเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร มี 9 โปรเจ็กต์ที่จะต้องทำในแต่ละเส้น โดยเส้นแรกที่ทำไปแล้วคือเส้นหลังสวน และสารสิน

“เมื่อวานผมเพิ่งลงพื้นที่พอดี ความจริงต้องแล้วเสร็จตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสายสื่อสารค่อนข้างเยอะ ต้องประสานหลายหน่วยงาน ฟุตปาธของ กทม. เสาไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้านครหลวง สายสื่อสารก็เป็นของ กสทช.ซึ่ง กสทช.ก็ต้องสื่อสารกับหลายๆ ส่วน เพื่อเข้ามาจัดระเบียบ ผมคิดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะเสร็จที่หลังสวน และคาดว่าสารสินจะแล้วเสร็จเป็นลำดับต่อไป” นายเอกวรัญญูกล่าว

นายเอกวรัญญูกล่าวอีกว่า ปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า เราจะได้ทางเท้าของ กทม.ที่สวยงามขึ้น

Advertisement

“ท่าน (ผู้ว่าฯ) ก็อยากให้เป็น Universal Design (หลักการออกแบบอย่างเท่าเทียม) ไม่ว่าจะเข้าซอยไหน ผู้เดินทาง สัญจร ได้คล่องแคล่ว” นายเอกวรัญญูกล่าว

ด้าน นายศานนท์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า มีดราม่าเรื่องทางจักรยานที่จังหวัดอื่น เราก็เห็นว่าแบบนั้น กทม.เคยทำมาก่อน ซึ่งเสียงตอบรับค่อนข้างลบ สุดท้ายจึงยกเลิกไป ทางกลุ่มจักรยานที่มาช่วยกันก็คงจะไม่ทำแบบนั้น แต่สิ่งที่เราอยากทำคือ ทางเดิน-ปั่นร่วมกัน

“สมมติตีเส้น และปั่นจักรยานด้วย ซึ่งเราก็ทดลองมาหลายเส้น อย่างเช่นที่เขตดุสิต ที่ซอยสามเสน 11 และ 13 ที่ทำ ทางเดิน-ปั่นร่วมกัน มีถนนสีลมซอย 1 เขตวัฒนา ก็จะมีอาร์ตสตรีตเหมือนกัน”

“มีรถวิ่ง 1 เลน ตีเส้นใหม่ ให้คนเดินและปั่นอย่างละครึ่ง ซึ่งเขตพระนครมี 7 เส้นทดลองอยู่ อย่างที่ศาลาว่าการ กทม. พยายามออกแบบให้ลดขนาดถนน เพื่อให้รถชะลอความเร็ว

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการสำรวจคาร์ฟรีเดย์ ได้เส้นทางมาประมาณ 600 กว่ากิโลเมตร อาสาสมัครช่วยกัน 50 เขต ไปลากเส้นกันมาว่า อยากให้เป็นเส้นทางเดิน-ปั่นร่วมตรงไหน คงไม่ได้ทำทางจักรยานแยก แต่จะแชร์ฟุตปาธร่วม อย่าง คลองผดุงกรุงเกษม ก็จะมีสัญลักษณ์ คงต้องใช้ร่วมกันระหว่างเดินกับปั่น” นายศานนท์เผย

เมื่อถามต่อว่า เป็นการปรับรูปแบบไบค์เลน ให้สอดคลองกับพฤติกรรรมของคนมากขึ้น ?

นายศานนท์เผยว่า การปรับปรุงดังกล่าว ได้ผ่านการกระบวนการมีส่วนร่วม พูดคุยกันทุกครั้ง อย่างเช่น ถนนมหรรณพจะเห็นว่ามีการทาสีใหม่ ซึ่งเป็นที่จอดรถเดิมที่มีอยู่ โดยปริมาณที่จอดยังเท่าเดิม แต่ทำให้คนเดินผ่านได้มากขึ้น ด้วยการ ‘ตีเส้นใหม่’ แต่ก่อน 2 คันจอดห่างกัน ตอนนี้ก็ตีเส้นให้ติดกันมากขึ้นเพื่อให้คนเดินได้

ที่ทำให้เขตพระนครมี 2 อย่างคือ 1.จัดเวทีชวนคนในชุมชนมาคุย 2.ทำแบบสอบถาม โดยเฉพาะร้านค้าริมทาง รับฟังเขา หัวใจที่ทำตอนนี้อีกอันคือ ใช้การทดลองก่อน ยังไม่ได้ลงทุนจริงหรือใช้เงินขยายฟุตปาธทันที ใช้วิธี ‘ทาสีตีเส้น’ ก่อน

“พอถ้าสีตีส้นแล้วจะได้ฟีดแบ๊กกลับมา อย่างวันก่อนไปทานข้าวหมูแดง เขาโวยเลย แต่ก่อนจอดได้ ทำไมมาทาสี เราก็อธิบายว่าตรงนี้มันเป็นขาว-แดงจอดไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าพี่เขยิบไปนิดนึงก็จอดได้เหมือนเดิม ตรงนี้ก็สามารถทำได้ถ้าเราทดลองทาสีแล้วเห็นฟีดแบ็ก พอทำจริงก็จะง่ายขึ้น

ผมว่าไม่น่าจะเกิน 500 กิโลเมตร แต่ไม่ได้เป็นการทำทางชัดเจน เป็นการทาสีง่ายๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นที่เส้นเลือดฝอยด้วยซ้ำ เน้นจากบีทีเอสเข้าบ้าน บีทีเอสไปโรงเรียน คือบางทีซอยเล็กๆ ต้องการแค่สีเพื่อให้เดินแยกฝั่งได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง เราจะตั้งเป้า ทำดาต้าว่ากี่กิโลเมตร แล้วทุกเขตก็สามารถทาสีได้เลย ตรงนี้ไม่น่าจะนาน ภายในเมษา พฤษภาคม หรือมิถุนายน ก็จะมีการขีดเส้นถนน” นายศานนท์เผย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image