สุดปัง! 12 ผลงาน น.ศ.ขับเคลื่อน ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ให้ค่า ‘พหุวัฒนธรรม’ แต่ทันเทรนด์

สุดปัง! 12 ผลงานนักศึกษา มธ. ขับเคลื่อน ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ไม่ทิ้งความหลากหลายทาง ‘วัฒนธรรม’

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่บ้านตรอกถั่วงอก เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ หลักสูตรการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแสดงผลงานโครงการทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายนนี้

บรรยากาศเวลา 13.30 น. มีนักศึกษาเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก โดยเดินชมบูธนิทรรศการที่นำเสนอความรู้จากการค้นคว้าและงานวิจัย ออกมาเป็นนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพลง ภาพวาด การ์ดเกม สารคดี คลิปสั้น ชิ้นงานศิลปะต้นแบบ และสื่อต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่หลากหลายทางวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการจัดแสดงของ BMCI ครั้งนี้ รวบรวมผลงานการศึกษาวิจัยและผลงานสร้างสรรค์ที่ต่อยอดจากประเด็น ออกมาในรูปแบบสารคดี คลิปสั้น ชิ้นงานศิลปะต้นแบบ และสื่อต่างๆ ที่สอดคล้องกับประเด็นที่หลากหลายทาง “วัฒนธรรม” และ “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” อาทิ ARTDIST (Artist Distancing), เพราะเป็นหนังไทย, รัญจวนกลิ่นบุหงาไทย, Card zone ระวังสิ้นสุดการโกง Project

รวมถึงผลงาน ไหว้แล้วไปไหน: ผลกระทบจากของไหว้ที่ล้นเกิน กรณีศึกษาการบูชาพระลักษมี, วัฒนธรรมแมว (Cat Culture), การศึกษารูปแบบและการป้องกันตนเองจากการคุกคามทางเพศในเด็กฉบับประถมต้น, Merge Music ส่งเสียงให้ไปถึงฝัน, THE SOUND OF SUCCESS, TikTok’s Starry Saga ความจริงแล้วดวงดาวไม่เคยหมดแสงในตัวเอง, “Victorious Memory at Anfield”, ส่งเสริมการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมชุมชนท่าพระจันทร์ของเด็กปฐมวัย เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ แต่ละผลงานวิจัยมีความเชื่อมโยงกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยมีรายละเอียดแต่ละโปรเจ็กต์ดังนี้

1. ARTDIST (Artist Distancing) ศึกษาปัญหาการคุกคามและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลต่อศิลปิน ในอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการคุกคามและละเมิดบ่อยครั้ง ในขณะที่แสดงดนตรีหรือในพื้นที่ออนไลน์ โดยทางกลุ่มนำปัญหาดังกล่าวมาจัดทำเป็นนิทรรศการ เพื่อรณรงค์ให้บุคคลทั่วไปมีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมากขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

2. เพราะเป็นหนังไทย: ศึกษาปัญหาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ในประเด็นการทำธุรกิจแบบผูกขาดของโรงภาพยนตร์ ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ขาดความหลากหลายของเนื้อหา โดยวิเคราะห์ประเด็นปัญหานี้จากมุมมองของนักวิชาการ ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้ชม นำมาเผยแพร่ในรูปแบบสื่อหรือนิทรรศการเพื่อสร้างความเข้าใจปัญหาดังกล่าวด้วยมุมมองรอบด้าน รวมถึงเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาของอุตสาหกรรม

3. รัญจวนกลิ่นบุหงาไทย โครงการที่นํา “บุหงา”เครื่องหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าตลอดจนปรับภาพลักษณ์ให้กับเครื่องหอมไทยให้มีความทันสมัย และสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเจนเนอเรชั่น Z ได้ โดยจะมีการศึกษาพฤติกรรมและทัศนคติและความต้องการใช้เครื่องหอมของไทย ของวัยรุ่นเจนเนอเรชั่น Z เพื่อนำข้อมูลมาปรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ “บุหงา” ต่อไป

4. Card zone ระวังสิ้นสุดการโกง Project โครงการที่ศึกษาวัฒนธรรมและพฤติกรรมการสะสมโฟโต้การ์ด (Photocard) ของแฟนคลับวง NCT 127 ซึ่งมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมสะสมโฟโต้การ์ด (Photocard) จากการซื้ออัลบั้มโดยการเก็บสะสมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและส่งผลทางจิตใจของแฟนคลับ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการซื้อขาย เพื่อให้ได้มาซึ่งการ์ดที่ต้องการ และเมื่อความต้องการกับสินค้ามีไม่เท่ากัน จึงเกิดเป็นช่องว่างของราคาและการโกง จนกลายเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มแฟนคลับ “Card zone ระวังสิ้นสุดการโกง Project” มีความประสงค์ในสร้างการรณรงค์และสร้างความฉุกคิดต่อวัฒนธรรมการชื้อขายโฟโต้การ์ด (Photocard) ของกลุ่มแฟนคลับวง NCT 127

5. ไหว้แล้วไปไหน: ผลกระทบจากของไหว้ที่ล้นเกิน กรณีศึกษาการบูชาพระลักษมี โครงการที่ศึกษากิจกรรมการไหว้และการบูชาพระแม่ลักษมี ในมุมมองประเพณีประดิษฐ์ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการไหว้และเครื่องไหว้ที่มีจำนวนมากในแต่ละวันก่อให้เกิด food waste และขยะจำนวนมากที่เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นำเสนอประเด็นความเชื่อ สร้างความตระหนักรู้และเสนอมุมมองแบบใหม่ในการไหว้และบูชา

6. วัฒนธรรมแมว (Cat Culture) โครงการที่ศึกษาประวัติความเป็นมาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับแมว ตลอดจนทัศนคติของคนที่มีต่อแมว เพื่อเชื่อมโยงถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ ปัญหาแมวจรจัด รวมทั้งศึกษาพื้นที่ตัวอย่างในการจัดการแมวจรเพื่อแก้ไขปัญหา ในส่วนของการจัดแสดงโครงการนำเสนอผ่าน นิทานรูปเล่ม และรูปปั้นแมวจร รวมทั้งนำเสนอข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมแมวและปัญหาของแมวในประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาแมวไร้บ้านและส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อแมว

7. การศึกษารูปแบบและการป้องกันตนเองจากการคุกคามทางเพศในเด็กฉบับประถมต้น โครงการที่ศึกษารูปแบบการคุกคามทางเพศในเด็กวัยประถมต้น ช่วงอายุ 7-9 ปี เพื่อหาแนวทางในการป้องกันตนเอง ให้เด็กสามารถรับรู้ เข้าใจและนำไปใช้หากอยู่ในสถานการณ์การคุกคามทางเพศ โดยผู้จัดทำโครงการได้ออกแบบสื่อการเรียนการสอน ประเภทการ์ดเกม “ร่างกายของหนู” เรื่องการป้องกันตนเองจากการคุกคามทางเพศ สำหรับครู ผู้ปกครอง และเด็กวัยประถมศึกษาตอนต้น

8. Merge Music ส่งเสียงให้ไปถึงฝัน โครงการที่ศึกษาปัญหาการขาดพื้นที่แสดงศักยภาพของศิลปินไทย ทั้งพื้นที่เชิงกายภาพและพื้นที่ออนไลน์ อ้างอิงแนวคิดนิเวศน์สร้างสรรค์ โดยดำเนินโครงการในรูปแบบการจัดแสดงรายละเอียดพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนาและสร้างงานสร้างสรรค์ของศิลปิน

9. THE SOUND OF SUCCESS โครงการที่ศึกษาปัจจัยความสำเร็จของอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับรายงานด้านอุตสาหกรรมดนตรีของสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ทำโครงการวางแผนทำเกมเติมคำจากแผนผัง และมีข้อมูลต่าง ๆ จากมุมมองของเบื้องหลัง ศิลปิน และ ผู้บริโภคในอุตสาหกรรมดนตรีไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมดนตรีไทย

10. TikTok’s Starry Saga ความจริงแล้วดวงดาวไม่เคยหมดแสงในตัวเอง โครงการที่ศึกษาปัจจัยความสำเร็จ ความนิยม และเหตุผลในการประชาสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมเพลงไทยป็อปที่ใช้แพลตฟอร์ม TikTok เป็นเครื่องมือในการผลักดัน โดยเลือกศึกษาผู้บริโภคกลุ่มเจเนอเรชัน Y และ Z ผ่านการจัดแสดงงานนิทรรศการภายใต้คอนเซปต์ “TikTok’s Starry Saga” ความจริงแล้วดวงดาวไม่เคยหมดแสงในตัวเอง ที่เปรียบเทียบ TikTok คือท้องฟ้า และเหล่าดวงดาวคือศิลปิน

11. “Victorious Memory at Anfield” โครงการที่ศึกษา และจัดแสดงของที่ระลึกที่ผ่านการออกแบบของสโมสรลิเวอร์พูล เพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตในสังคมไทย และสำรวจความคิดเห็น ความพึงพอใจของแฟนคลับต่อรูปแบบของของที่ระลึกที่ผ่านการออกแบบตามกรอบทฤษฎีและข้อคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกสโมสรลิเวอร์พูลที่แฟนคลับสนใจ

12. ส่งเสริมการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมชุมชนท่าพระจันทร์ของเด็กปฐมวัย โครงการการจัดทำบอร์ดเกม เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้มรดกชุมชนท่าพระจันทร์และดำเนินกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนวัดมหาธาตุ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image