‘ชลน่าน’ แจงยิบนิยามยาบ้า 5 เม็ด คือผู้ป่วย บำบัดจบคอร์สพ้นโทษนอนคุก
วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมหารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ซึ่งมีนพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. เป็นประธานการประชุม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ เคาะจำนวนการครอบครองยาเสพติดประเภทที่ 1 เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ ต้องเข้ารับการบำบัด ว่า ไม่มีความเห็นเพิ่มเติม เพราะได้มอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือถึงปริมาณที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้เหตุผลที่รองรับทุกมิติ
“ผมไม่ได้เป็นคนเสนอ 10 เม็ด แต่ข้อมูล 10 เม็ดที่เคยระบุไว้ เป็นส่วนหนึ่งของกรรมการพิจารณาที่เสนอเข้ามา ผมจึงได้ยกตัวอย่างขึ้นมา และเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ที่ต้องออกกฎกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบ ผมจึงให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 มติเป็นเอกฉันท์ว่ากำหนดไว้ที่ 5 เม็ด” นพ.ชลน่าน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 กำหนดว่าให้รัฐมนตรีว่าการ สธ. กำหนดปริมาณสารเสพติด ประเภทที่ 1 เพื่อให้สันนิษฐานำไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพ นอกจากนั้น ยังต้องกำหนดปริมาณสารเสพติดในประเภทที่ 2 และ 5 ด้วย
“อย่างการถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ถ้าเกิน 5 เม็ด จะถือเป็นผู้ครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือแม้แต่ถ้ามีพฤติกรรมการจำหน่าย ไม่ว่าจะถือกี่เม็ด ก็เท่ากับเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เมื่อสันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพแล้ว ยังต้องสืบสวนเพิ่มเติมตามหลักฐานด้วย ซึ่งหากเป็นผู้เสพจริง สมัครใจเข้าบำบัดรักษา ก็ต้องมาดูว่าผู้เสพรายนั้นๆ อยู่ระยะไหน ที่มีนิยามตั้งแต่ “ผู้ใช้” ที่จะใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว “ผู้เสพ” ใช้บ่อยมากขึ้นมีอาการอยากใช้ยาต่อ และ “ผู้ติดยาเสพติด” ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการถอนฤทธิ์ยาในสถานพยาบาล ซึ่งกลุ่มผู้ติดยาจะใช้การบำบัดไม่น้อยกว่า 4-6 เดือน
“การดูแลจะมีตั้งแต่ระยะแรก ไปจนถึงระยะยาวที่เรียกว่า Long Term Care ใช้เวลา 4-6 เดือน เมื่อฟื้นฟูสภาพทางกายและใจได้แล้ว ผู้อำนวยการสถานบำบัดรักษายาเสพติดจะออกหนังสือรับรองให้ว่า ผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟู จึงจะถือว่า ไม่มีความผิด ฉะนั้น ย้ำว่าต้องมีหนังสือรับรองการบำบัดตามกระบวนการ จึงจะไม่มีความผิด” นพ.ชลน่าน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ.พร้อมจะบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นที่น่ากังวล เพราะ สธ.มีนโยบายรองรับเรื่องนี้ชัดเจน โดยจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ที่ตั้งเป้ามีในทุกจังหวัดภายในเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนั้น ยังมีหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชนเกือบทุกแห่ง และ สธ.ก็จะผลักดันให้เกิดศูนย์ชุมชนบำบัดให้มากที่สุดด้วย ซึ่งในวันนี้ กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นเจ้าภาพ โดยมี สธ.เป็นกรรมการศูนย์ฯ หลายๆ หน่วยงานมาช่วยกันดูแล เพื่อเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างเส้นทางอาชีพใหม่ การใช้ธรรมะเพื่อให้ผู้ที่เคยใช้ยาเสพติดไม่กลับไปใช้ยาอีก ทั้งหมดนี้ เป็นการฟื้นฟูสภาพก่อนกลับเข้าสู่สังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่เสพยาเสพติดมีโทษจำคุก 6 เดือน – 3 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 10,000 –60,000บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเข้ารับการบำบัดรักษาจนครบกระบวนการ ก็จะไม่ต้องรับโทษดังกล่าว