เสียงสะท้อน ‘เอกชน’ แก้ฝุ่นพิษ-ไฟป่าเหนือ

เสียงสะท้อน ‘เอกชน’ แก้ฝุ่นพิษ-ไฟป่าเหนือ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM2.5 และหมอกควันจากไฟป่าในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี จนส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ปี 2562 รัฐบาลในขณะนั้นประกาศให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ และในปีเดียวกันได้ประกาศแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดําเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและในพื้นที่วิกฤตของประเทศ

ในยุคของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เริ่มเห็นการขับเคลื่อนเดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ไล่เรียงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ บอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ประกอบด้วย การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ “มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567”

รวมทั้งแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง โดยมีรัฐมนตรีว่าการ ทส.เป็นประธานคณะกรรมการ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคณะกรรมการคนที่ 1 และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคนที่ 2

Advertisement

ถือเป็นกรรมการชุดใหญ่บริหารจัดการภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศโดยเฉพาะ เน้นพื้นที่ป่าเฝ้าระวังป้องกันเข้มข้นที่มีการเผาไหม้มากที่สุดใน 10 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ 10 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ การป้องกันปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นพิษ พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

ล่าสุด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อมอบนโยบาย ติดตามความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ได้เน้นย้ำว่า ปฏิบัติการต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ เพราะปี 2566 เกิดฝุ่น PM2.5 และจุดความร้อนสูงมาก โดยประเมินว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ น่าจะทำให้สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองรุนแรงมากขึ้น จึงตั้งเป้าให้ควบคุม ลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร

“ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่เกิดไฟป่ารุนแรงใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ขอให้เฝ้าระวัง หรือปิดป่าในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า จัดระเบียบการเก็บหาของป่า ลงทะเบียนรายบุคคล บริหารจัดการเชื้อเพลิงในห้วงเวลาที่เหมาะสม สับเปลี่ยนกำลังระดมพลดับไฟป่าอย่างทันท่วงที ดึงหมู่บ้านเครือข่ายร่วมดับไฟ พร้อมตั้งเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ร้อยละ 50 จากปีก่อน พร้อมเดินหน้าเจรจาประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียนและภาคี ร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเต็มที่”

Advertisement

ขณะที่ผู้ประกอบการได้ส่งเสียงสะท้อน ข้อเสนอในการรับมือปัญหาหมอกควัน ฝุ่นพิษ ไปยังภาครัฐ ไพศาล สุขเจริญ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน) ระบุว่า ห่วงเรื่องของหมอกควัน ฝุ่นพิษมากที่สุด เพราะลูกค้าหายหมดถ้าเกิดฝุ่น ทุกคนหนีลงใต้ไปภูเก็ต สมุย พัทยา ไม่เหลือ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ปัญหาเต็มที่แล้ว ด้วยหวังจะให้ฝุ่นลดลง พยายามทำทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ได้ คนภาคเหนือน่าห่วงที่สุด เพราะเราอยู่ไม่ได้จะให้คนอื่นมาอยู่ได้อย่างไร น่าจะต้องเร่งส่งเสริมให้ความรู้ประชาชน ชาวบ้าน เรื่องการหยุดเผาป่า แต่ก็ต้องหาอาชีพให้คนที่อยู่กับป่า ไม่ให้เข้าไปหาเห็ดในช่วงนั้นได้หรือไม่ เพราะเรื่องจริงคือ ชาวบ้านมีรายได้จากการหาเห็ดออกมาขายเฉลี่ย 3.5-5 หมื่นบาทต่อเดือน กลายเป็นแรงจูงใจให้ทั้งคนในพื้นที่ และคนต่างถิ่นเข้าไปหาเห็ดในป่า เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้

“ไม่ได้หมายความว่าฝุ่นเกิดมาจากการเผาป่าหาเห็ดเท่านั้น ในเมืองก็สร้างปัญหาจากการเผาไหม้ของรถยนต์ทำให้เกิดควัน แต่ไม่มากเท่า บวกกับหมอกควันที่ลอยข้ามแดนมาอีก ก็ต้องเร่งหาความร่วมมือจากที่ทำอยู่แล้วก็ต้องทำให้มากขึ้น ในส่วนของโรงแรมสมาชิกพร้อมช่วย ทุกปีจะปล่อยละอองไอน้ำจากอาคารสูงเพื่อช่วยดักจับฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ทั้งที่ความเสียหายจากสถานการณ์รุนแรงกว่าในแง่ของรายได้เข้าผู้ประกอบการโรงแรมทั้งภาคเหนือ จากปกติเราจะมีรายได้ในช่วง 3 เดือนเฉลี่ย 1 พันล้านบาท หรือราวๆ 400-500 ล้านบาทต่อเดือน พอฝุ่นมาก็หายวับ” ไพศาลกล่าว

อีกเสียงสะท้อนของ พัลลภ แซ่จิว รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในนามประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่า “วันนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ (กกร.) เห็นพ้องกันว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าดีขึ้นกว่าปีก่อนเหมือนการเทงบประมาณลงไป เช่น เทไป 100 ล้าน ฝุ่นลด 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทไป 200 ล้าน ฝุ่นควรลด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ทำมาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น เลยมีการตั้งคำถามตัวโตๆ ว่า การบริหารจัดการดีจริงหรือ

ภาคเอกชนมองว่า พบการเผาไหม้สูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์คือ ป่า ทั้งป่าอุทยาน ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ตอนไฟไม่เกิดไม่มีปัญหา แต่พอไฟมาแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐมักจะออกมาบอกว่ามีเจ้าหน้าที่แค่นี้กำลังมีน้อย ดูแลป่าเกินแสนไร่ต่อผืนไม่ได้หรือการทำแนวกันไฟใส่งบประมาณลงไป กลไกคือ คนจำเป็นต้องเผาเพราะได้ประโยชน์ เราก็ต้องหาไปแลก เชื่อว่า 1,000 กว่าหมู่บ้าน ติดเขตป่า ชุมชนก็รู้ว่าว่าใครบ้างที่ทำ ไม่ได้ชี้ว่าเขาเป็นจำเลย แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ต้องห้ามเด็ดขาด มีมาตรการคือ ทำดีให้รางวัล แต่ถ้าลงมือเผาก็ต้องมีบทลงโทษ มุมมองของเอกชน คือ ฝุ่นเกิดจากป่า ไฟจากการเกษตร ไฟบ้าน ไฟข้ามแดน ควรต้องผลักดันให้มีกฎหมายพิเศษ จี้บริษัทไม่ให้รับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา ทั้งในประเทศและที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการคุมกำเนิดการเกิดฝุ่น”

“ปีที่ผ่านมาในช่วงไฮซีซั่น การท่องเที่ยวทำรายได้ 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ช่วงโลว์ซีซั่น 2-3 พันล้านบาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ไฟป่าหมอกควันจะหนักในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ก็จะเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อเดือน ภาคเอกชนจึงคุยกันว่าต้องสร้างโมเดล มีโรดแมปที่ชัดเจน ด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต มีกลไกตามกระบวนการ พักโรงแรมนี้มีการหักเงินนำไปใช้เพื่อโครงการสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ผ่านกองทุนที่ตั้งขึ้นรองรับ นำมาแก้ปัญหาสังคม ฝุ่นควัน ลดโลกร้อน นำเงินไปสนับสนุนหมู่บ้านที่อยู่ติดป่าแต่เฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่า อย่างได้ผล” พัลลภกล่าวทิ้งท้าย

เป็นข้อเสนอเป็นแนวทางที่จะหยุดวิกฤตฝุ่นพิษและไฟป่าให้ลดน้อยลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image