สธ.-จุฬาฯ พัฒนาหลักสูตร Care D+ ปั้นบุคลากรกาวประสานใจผู้ป่วย-ทีมหมอ

สธ.-จุฬาฯ พัฒนาหลักสูตร Care D+ ปั้นบุคลากรกาวประสานใจผู้ป่วย-ทีมหมอ

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. และผู้แทนอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์หลายสายวิชาชีพ ร่วมเปิดโครงการขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม หรือ แคร์ ดีพลัส (Care D+)

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โครงการแคร์ ดีพลัส ทีม เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ที่ สธ.ได้เสนอต่อรัฐบาลว่าจะต้องทำให้สำเร็จภายใน 100 วัน ฉะนั้น การที่ผู้ป่วยไปโรงพยาบาล (รพ.) ตรวจรักษา ได้ยา และได้กลับบ้าน แต่สิ่งที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้นคือ การปฏิบัติต่อผู้ป่วยและญาติ ที่มีความเปราะบางทางอารมณ์ วิตกกังวล หวาดกลัว กลัวท้อแท้และสิ้นหวัง ซึ่งหากบุคคลเหล่านั้นได้รับการสื่อสารและเอาใจใส่ที่ดี หรือมีวิธีการขั้นตอนต่างๆ ที่สร้างความเห็นอกเห็นใจ ก็จะทำให้เขามีความรู้สึกมั่นใจและสบายใจว่า คนที่จะดูแลรักษาเขา ช่วยเอาใจใส่ดูแลเขาได้ อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่าความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยและญาติ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกว่าร้อยละ 90 ผู้ให้การบริการเองก็เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง หลายคนออกจากระบบราชการเพราะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น จะต้องเสริมสร้างและแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน เพื่อให้คนทำงานยังอยู่ในระบบได้

Advertisement

“สังคมชอบฟังเรื่องร้ายและสื่อก็ขายข่าวได้ เราก็เข้าใจทางสื่อมวลชน ข่าวดีออกไปแค่วันเดียวไม่มีกระแสตอบรับ โดยเฉพาะยุคดิจิทัล ยอดวิว ยอดไลท์ หรือ Engagement มีความสำคัญ ฉะนั้น ถ้าเสนอข่าวร้าย ก็เป็นข่าวได้ถึง 1 สัปดาห์” นพ.ชลน่าน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า ฉะนั้น แคร์ ดีพลัส ทีม เป็น 1 ใน 13 นโยบาย ที่ สธ. จะต้องทำ เพื่อแก้ปัญหาให้แก่บุคลากรในเชิงโครงสร้างและระบบ เช่น การลดความแออัด การจัดบริการที่ดี การใช้บัตรประชาชนใบเดียวที่จะเริ่มนำร่องในวันที่ 1 มกราคม 2567 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ส่วนวันที่ 2 เมษายน 2567 จะขยายการนำร่องเป็น 4 เขตสุขภาพ ทั้งนี้ สธ.จะทำให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจ ป้องกันแก้ไขภัยร้ายต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างเต็มความสามารถ เชื่อว่าวิชาชีพนี้มีจิตใจที่บริสุทธิ์มาก เห็นเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากตกทุกข์ได้ยากก็ทุ่มเทเสียสละช่งยเหลือ

“นี่คือพื้นฐานจิตใจของพวกเราที่ดีอยู่แล้ว แคร์ ดีพลัส ทีม เปรียบเสมือนญาติเฉพาะกิจ มิตรถาวร ทีมเชื่อมประสานใจ ตรงนี้เป็นภาพที่พวกเราสร้างขึ้นให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจว่ามี ซึ่งเมื่อมีแล้วก็จะเกิดความคาดหวัง ดังนั้นเราต้องดำเนินการตรงนี้ โดยจะมีตัวแทนเสมือนทีมต่างหน้า โดยเฉพาะห้องฉุกเฉินคอยดูตลอดเวลา เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์จะไม่มีปัญหากัน” นพ.ชลน่าน กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สธ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ (Emphatic Communication) ในภาคการดูแลสุขภาพ ร่วมกับจุฬาฯ รวมทั้งสิ้น 7 บทเรียน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน Care D+ โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตทางการสื่อสาร (Crisis Communication Management) และการสื่อสารด้วยความเข้าใจ เชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกัน (Emphatic Communication)

“การอบรมมีทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม cug.academy โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจิตวิทยา จากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากร เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมถึง 10,550 คนแล้ว โดยภายในเดือนธันวาคมนี้ เราจะมีทีม Care D+ รวม 1,00 คน เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน และจะครบ 10,000 คน ตามเป้าหมาย ภายในเดือนเมษายน 2567 โดยจะมีการประเมินผลการอบรมและปรับปรุงหลักสูตรการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้สามารถสื่อสารประสานใจ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างดี” นพ.ชลน่าน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า วันนี้เราสร้าง Care D+ ใน รพ.ทุกแห่ง โดยทางหน่วยบริการนั้นๆ จะเป็นผู้ที่บริหารจัดการทรัพยากรของตนเอง ส่วนเรื่องค่าตอบแทนก็จะเป็นไปตามเงินเดือนปกติแต่หากทำงานนอกเวลาก็จะมีค่าล่วงเวลาในการทำงานเช่นกัน ทั้งนี้ ในอนาคตอาจจะมีการสร้างทีมสื่อสารที่ไม่ใช้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ด้านงานสาธารณสุขแต่ไม่อยากเป็นพยาบาล เอาความรู้ตรงนั้นมาใช้ก็จะช่วยได้ก็จะเป็นการสร้างอาชีพอย่างหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของการให้บริการใน รพ. ที่ยังพบปัญหาว่าพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ ใช้คำพูดกับผู้ป่วยและญาติ ที่ไม่เหมาะสมนั้น จะต้องดำเนินการอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า Care D+ ปฏิบัติการด่านหน้าที่มีความแออัดยัดเยียดของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยฉุกเฉิน ส่วนการพัฒนาบุคลากรใน รพ.ต่างๆ เป็นเรื่องที่เราต้องทำในวาระปกติอยู่แล้ว ตามคุณภาพมาตรฐาน รพ.ที่ต้องได้รับการรับรองจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ HA ทั้งนี้ บุคลากรจะต้องได้รับการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นส่วนของบุคลากร หรือพฤติกรรมการบริการที่ต้องเป็นเลิศ

ด้าน ศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผนการงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาฯ กล่าวว่า สธ. และ จุฬาฯ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน Care D+ เป็นการสื่อสารในการสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติเพื่อให้รู้สึกคลายกังวล สร้างความเข้าอกเข้าใจให้กับประชาชน ทำให้ประสิทธิภาพในการบริการประชาชทำได้สูงสุด โดยหลักสูตร 7 บทเรียน จะมีทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ หลังจากนั้นก็จะมีการสอบวัดผลด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image