รพ.เด็ก เปิดธนาคาร ‘นมแม่’ บริจาคช่วยทารกป่วย แนะอย่าแบ่งกันเองเสี่ยงติดเชื้อโรค

รพ.เด็ก เปิดธนาคาร ‘นมแม่’ บริจาคช่วยทารกป่วย แนะอย่าแบ่งกันเองเสี่ยงติดเชื้อโรค

วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ใน 1 ปี มีทารกคลอดก่อนกำหนดประมาณ 15 ล้านคน หรือมีทารกเกิดก่อนกำหนดมากกว่า 1 รายต่อการคลอด 10 ราย และทุกๆ ปี จะมีทารกที่เสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด ประมาณ 1 ล้านคน ทั้งนี้ ทารกแรกเกิดป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่ไม่ได้รับนมแม่ เนื่องจากแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ หรือแม่มีภาวะแทรกซ้อน เจ็บป่วยรุนแรงไม่สามารถให้นมบุตรได้ รวมทั้งทารกต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ภาวะแยกจากระหว่างแม่กับทารกป่วย

หากทารกแรกเกิดป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดได้รับนมแม่ จะมีประโยชน์ต่อการกระตุ้นฮอร์โมนในลำไส้ น้ำหนักขึ้นเร็ว ลดระยะเวลานอนโรงพยาบาล ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในลำไส้ กระแสเลือด และลำไส้เน่า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับนมแม่ แต่การที่จะได้รับนมแม่จากการรับบริจาคนั้น จำเป็นต้องมีขั้นตอนการรับนมแม่ที่ปลอดภัย ทั้งผู้ให้และผู้รับ ควรปรึกษาแพทย์หรืองานธนาคารนมแม่ก่อนบริจาคทุกครั้ง

Advertisement

ด้าน นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยาบาล (รพ.) เด็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารนมแม่ สถาาบันสุขภาพเด็กฯ เป็นสื่อกลางที่มีความสำคัญในการจัดสรรนมแม่ที่ได้รับบริจาคมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีความปลอดภัยสูงสุด โดยขั้นตอนการทำงานของธนาคารนม สถาบันสุขภาพเด็กฯ มีดังนี้ 1.คัดกรองผู้บริจาค 2.ควบคุมช่วงเวลาและอุณหภูมิในการส่งน้ำนม 3.จัดเก็บน้ำนมในอุณหภูมิที่คงที่ 4.พาสเจอร์ไรซ์น้ำนมตามมาตรฐาน 5.จ่ายน้ำนมพาสเจอไรซ์ให้แก่ทารกกลุ่มเป้าหมาย

Advertisement

ทารกกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับนมแม่บริจาคจากธนาคารนมแม่คือ ทารกคลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ ทารกน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ทารกที่ได้รับการผ่าตัดลำไส้ ทารกป่วยที่มารดามีข้อห้ามในการให้นมบุตร ส่วนคุณสมบัติของแม่ที่สามารถบริจาคนมแม่ มีดังนี้ สุขภาพแข็งแรง ไม่รับประทานยาหรือฉีดยาที่เป็นข้อห้ามในการให้นมบุตร มีน้ำนมมาก มีผลเลือดปกติ น้ำนมที่จะบริจาคเป็นน้ำนมที่บีบเก็บในช่วงที่บุตรคนล่าสุดอายุไม่เกิน 4 เดือน และไม่หมดอายุการจัดเก็บ ยินดีเจาะเลือด ตอบแบบสอบถามคัดกรองความเสี่ยง” นพ.อัครฐาน กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวว่า สำหรับแม่ที่มีน้ำนมมากเกินความต้องการ ไม่ควรแบ่งนมแม่กันเองเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และไวรัสอื่นๆ ผ่านทางน้ำนม เสี่ยงต่อการรับยาหรือสารเสพติดที่ส่งผ่านทางน้ำนม เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคในระหว่างขั้นตอนการปั๊มนม และการจัดเก็บนม ทั้งนี้ นมแม่จากธนาคารนมแม่ใช้เพื่อเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านชั่วคราวระหว่างรอนมแม่เท่านั้น เพราะ “นมแม่ตัวเองดีที่สุด” หากแม่รายใดมีคุณสมบัติข้างต้นและประสงค์ที่จะบริจาคนมแม่ สามารถติดต่อไปยังธนาคารนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ หรือ โทร.06 6121 7747

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image