ห่วง! ไทยกว่า 3 ล้านคน ป่วยเบาหวาน รพ.จุฬาฯ – สสส. สานพลังสื่อสารสุขภาพ

ห่วง! ไทยกว่า 3 ล้านคน ป่วยเบาหวาน รพ.จุฬาฯ – สสส. สานพลังสื่อสารสุขภาพ

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานวันเบาหวานโลก 2566 “World Diabetes Day 2023” ที่โถงกิจกรรม ชั้น M1 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ รพ.จุฬาฯ

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานว่า ใน 1 ปี มีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 3 ล้านคน ที่น่าห่วงคือ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีถึง 3 แสนคนต่อปี การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแบบครบวงจร แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในผู้ป่วยเบาหวาน ภายใต้หัวข้อ เบาหวาน..รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน… ภายในงานมีการตรวจระดับน้ำตาล ประเมินความเสี่ยง แนะนำโภชนาการ และการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

Advertisement

“ผู้มีความเสี่ยงป่วยโรคเบาหวานอาจไม่แสดงอาการเบื้องต้น กลุ่มคนอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวาน ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งไว้ถึง 20 ล้านคน ทั้งนี้ สามารถตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ผ่านออนไลน์ในรูปแบบตารางประเมินผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเบาหวานง่ายๆ หรือหากมีอาการข้างต้นควรเข้ารับการประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคที่โรงพยาบาล เพื่อรับการรักษา ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนในอนาคต ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด และ CUEZ endocrine” รศ.นพ.ฉันชายกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้คนไทยกินอาหารและเครื่องดื่มที่หวานเกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2565 พบคนไทยกินน้ำตาลมากถึง 25 ช้อนชาต่อวัน เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอยู่ที่ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หรือมากกว่า 4 เท่า เป็นต้นเหตุของภัยเงียบสุขภาพที่ทำให้อ้วนลงพุง ทำให้เกิดไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ หากสะสมเป็นเวลานานจะเสี่ยงป่วยกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเพิ่มค่าใช้จ่ายในครอบครัว

“สสส. สานพลังภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งป้องกันโรคที่ต้นทาง พัฒนานวัตกรรมช่วยสนับสนุนการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น แอพพลิเคชั่น Food Choice สแกนบาร์โค้ดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร การทำงานเชิงระบบ เช่น เกณฑ์การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo) เป็นกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรมใช้รับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มลดหวาน มัน เค็ม เกิดการผลักดันนโยบายลดการบริโภคหวานระดับชาติ เสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กนักเรียน ขยายผลร้านกาแฟอ่อนหวาน โรงพยาบาลอ่อนหวาน โรงเรียนบูรณาการอ่อนหวาน รวม 2,624 แห่ง ล่าสุด จัดทำสื่อภายใต้โครงการลดหวาน ลดโรค กระตุ้นให้ผู้บริโภคสั่งเครื่องดื่มชงเย็นหวานน้อยไม่เกิน 2 ช้อนชา ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน ต้องทำควบคู่กับการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันและลดเสี่ยงโรค NCDs ในระยะยาว” นพ.ไพโรจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image