รพ.จุฬาภรณ์ รณรงค์ ‘วันเบาหวานโลก’ แพทย์ชี้ไทยป่วยชนิดดื้ออินซูลินมาก

รพ.จุฬาภรณ์ รณรงค์ ‘วันเบาหวานโลก’ แพทย์ชี้ไทยป่วยชนิดดื้ออินซูลินมาก

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) ที่ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์ ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการผู้อำนวยการ รพ.จุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมเนื่องใน ‘วันเบาหวานโลกปี 2566’ ภายใต้แนวคิด “Access to Diabetes Care” เรื่องไม่เบาของเบาหวาน เรื่องสำคัญที่ผู้เป็นเบาหวานควรได้รู้และเข้าถึง

ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ กล่าวว่า รพ.จุฬาภรณ์ ได้จัดกิจกรรมวันเบาหวานโลกปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Access to Diabetes Care” เรื่องไม่เบาของเบาหวาน เรื่องสำคัญที่ผู้เป็นเบาหวานควรได้รู้และเข้าถึง ซึ่งมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้ว รู้ผลในเบื้องต้นทันทีว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานหรือไม่ ซึ่งมีข้อมูลพบว่า 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกเป็นเบาหวาน

Advertisement

และเชื่อว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวาน ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือผู้ป่วยเบาหวานกว่าร้อยละ 95 จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาพที่ดี และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

Advertisement

ด้าน พญ.ธัชนันท์ พรธารักษ์เจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม กล่าวว่า คนไทยและทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น และเจอในอายุที่น้อยลงด้วยเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปีที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโรคเบาหวานจะแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ ชนิดที่ 1 เกิดจากการทำงานของตับอ่อน ชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ชนิดที่ 3 เกิดจากสาเหตุเฉพาะเจาะจง เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบ หรือจากการดื่มแอลกอฮอล์ และ ชนิดที่ 4 เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งคนไทยเจอมากในชนิดที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับภาวะดื้ออินซูลิน จากภาวะอ้วน การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง ทำให้เกิดภาวะเบาหวาน

พญ.ธัชนันท์ กล่าวถึงภาวะดื้ออินซูลิน ว่า ปกติแล้วอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายเราสร้างขึ้นจากตับอ่อนมีหน้าที่ดึงน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน แต่เมื่ออินซูลินทำงานได้ไม่ดี หรือ มีภาวะดื้ออินซูลินทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่ได้ ก็จะทำให้การดึงน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักมาก คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ ให้ควบคุมน้ำหนักให้ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

“ภาวะดื้ออินซูลิน เกิดจากน้ำหนักตัวมาก ซึ่งนั่นมาจากการกินอาหาร จำพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ที่ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะมีการดูดซึมน้ำตาลเข้าไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ อินซูลินยังไม่หลั่งออกมา ก็จะยิ่งทำให้เบาหวานแย่ลง จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มาก ลดอาหารที่มีรสหวาน ลดน้ำตาลให้มากที่สุด เพื่อให้โรคเบาหวานสงบ” พญ.ธัชนันท์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.ภคมน วิวิธวรกิจ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด กล่าวว่า ได้รับข้อมูลการจัดกิจกรรมจากไลน์ของ รพ.จุฬาภรณ์ เพราะแม่เป็นผู้ป่วยของ รพ.จุฬาภรณ์ อยู่แล้ว ครอบครัวจึงสนใจอยากลองตรวจค่าน้ำตาลด้วยการเจาะปลายนิ้ว ซึ่งตนอายุ 40 ปีแล้ว จึงมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยปกติก็จะมีการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว แต่ด้วยวิถีชีวิตปกติเราก็กินอาหารปกติบ้าง อาหารคลีนบ้าง กินดึกบ้าง แต่ที่ผ่านมา ระดับน้ำตาลในเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่ จึงพยายามควบคุมการกิน กินอาหารที่มีไฟเบอร์มากๆ และก็มีออกกำลังกายบ้าง ตอนนี้ก็พยายามออกให้มากขึ้น

“รพ.จุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพฟรีแบบนี้ในหลายๆ กิจกรรม เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะผู้ใหญ่ส่วนมากจะเชื่อข้อมูลทางการแพทย์ เมื่อได้คุยกับแพทย์เขาก็จะปฏิบัติตามข้อมูลที่ถูกต้อง หลังๆ คนป่วยกันมากขึ้น การตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจหาค่าน้ำตาลในเลือด ควรจะตรวจทุกๆ ครึ่งปี เพื่อจะได้เช็กร่างกายให้รู้ทันโรค” น.ส.ภคมน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image