‘ชลน่าน’ เล็งดึง ‘ภาษีบาป’ ตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อรับผลกระทบจากเครื่องดื่มมึนเมา

‘ชลน่าน’ เล็งดึง ‘ภาษีบาป’ ตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อรับผลกระทบจากเครื่องดื่มมึนเมา

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะขยายเวลาเปิดสถานบริการจากปิดตี 2 เป็นตี 4 ว่า นโยบายขยายเวลาเปิดสถานบริการให้เมืองท่องเที่ยว ในพื้นที่จำเพาะ หรือโซนนิ่ง เรื่องนี้ในมุมของ สธ.ให้ความสำคัญมาก เพราะนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจต้องไม่กระทบกับสุขภาพด้วย อย่างน้อยต้องคงเดิม หรือไม่มากกว่าเดิม หรือเรามีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจจะดีกว่าเดิม ดังนั้น จึงให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการรองรับ เราคงไม่คัดง้างหรือต่อต้านนโยบายของรัฐบาล แต่หน้าที่เราจะทำอย่างไรเมื่อขยายเวลาจากตี 2 เป็นตี 4 ช่วงเวลาที่เขาขยายจะไม่ส่งผลกระทบต่อมิติสุขภาพ ซึ่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีกฎกระทรวงออกมารองรับ ซึ่งคณะกรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดที่จะเสนอมาตรการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ เพราะกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีหลายมาตราที่ให้อำนาจ เช่น การกำหนดพื้นที่จำหน่าย ระยะเวลาจำหน่าย สภาพบุคคลที่จำหน่าย

“ยกตัวอย่างมาตรการที่คุยในคณะกรรมการที่จะเสนอ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปคือ ทำอย่างไรมาตรการควบคุมอย่างเข้ม ให้มีเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยเรื่องนี้เยอะ คนที่จะออกจากร้านไปขับรถ เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกคนจะต้องตรวจระดับแอลกอฮอล์ หากมีปริมาณเกินก็ต้องมีมาตรการ เช่น ทางร้านหรือคนที่ควบคุมต้องไม่ให้ขับรถ ต้องมีรถสาธารณะมารองรับ หรือแม้กระทั่งระหว่างที่ดื่มกินก็มีกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ว่าห้ามจำหน่ายให้คนที่มีอาการมึนเมา เราก็แปลงมาว่าจะบังคับอย่างไร จะตรวจวัดอย่างไร ให้รู้ว่าคนคนนี้เข้าข่ายจะซื้อ จะขายตามกฎหมายไม่ได้ ซึ่งเขาเขียนไว้ 2 ลักษณะ คือ ร้านจำหน่ายให้จำหน่ายถึงเวลาที่ปิดสถานบริการ เพราะฉะนั้น เมื่อปิดตี 4 ก็ขายถึงตี 4 เมื่อขยายตรงนี้ มาตรการควบคุมก็ต้องเข้ม” นพ.ชลน่านกล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีการคุยกันถึงเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในลมหายใจ ขณะนี้ถูกนิยามเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีมาตรฐานและมีราคาสูง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งแยกประเภท เครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในส่วนที่ใช้ทางการแพทย์ก็ให้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ส่วนที่ใช้ในการตรวจวัดเป็นการทั่วไป เป็นลักษณะการค้นหา ก็ให้เป็นเครื่องมือทั่วไปหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนสามารถพกติดตัว สามารถตรวจสอบตัวเองได้ หากทุกคนมีวินัยก็จะไม่มีผลต่อการขยายเวลาเปิดผับ บาร์

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นายธนกฤต พานิชวิทย์ หรือว่าน นักร้องชื่อดังไลฟ์สดดื่ม กิน ก่อนจะขับรถไปเกิดอุบัติเหตุชนพนักงานเก็บขยะ จะเป็นเหตุให้ต้องเสนอให้ผ่านให้ได้เรื่องการบังคับตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ก่อนออกจากร้าน และห้ามขับรถโดยเด็ดขาดหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นเหตุผลชัดเจนเลย นับว่าเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เราต้องตระหนัก และเรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่พึงมีกฎมาควบคุมชัดเจน

“นักร้องคนนี้ผิดกฎหมายหลายมาตรา ซึ่งในส่วนที่เขาไปกำกับดูแลก็ว่ากันไป เช่น การดื่มเมาแล้วขับก็ผิดอยู่แล้ว เป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบ ทำในสิ่งที่กฎหมายต้องห้ามไว้ สธ.ในฐานะเป็นผู้ดูแลบังคับใช้กฎหมาย ก็จะดูมาตรการป้องกันทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ สธ.จะรณรงค์โดยใช้คำว่า “ดื่มไม่ขับ” ไม่ได้ใช้คำว่า “เมาไม่ขับ” ดังนั้นต่อไปต้องปรับมาตรการรณรงค์ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เข้มเลย หมายความว่า คำว่าดื่มไม่ขับ อาจจะน้อยไปแล้ว จากนี้ต้องตรวจวัดทุกครั้งถ้าดื่มในสถานบันเทิง ดังนั้น ต้องทำให้เครื่องวัดหาง่าย สามารถพกพาได้ด้วยตนเอง รู้ตนเอง รู้เพื่อน รู้กลุ่ม ถ้าคุณอยากสนุกต้องสนุกบนพื้นฐานความปลอดภัยต่อตนเอง และของคนอื่นด้วย

Advertisement

เมื่อถามต่อไปว่า มีข้อเสนอจากภาคประชาชนว่า เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบให้คนที่อยู่ในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงควรมีการตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นแนวทาง เป็นวิธีคิดที่คล้ายกับการเก็บภาษีบาป ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารมึนเมา เพื่อนำเงินนี้มาใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดังนั้นก็อาจจะมีแนวคิดอย่างนั้นได้ ต้องดูในรายละเอียดว่า สามารถจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอกลอฮอล์แล้วนำมาจัดตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่อได้หรือไม่

เมื่อถามย้ำว่า จะเสนอเรื่องการตั้งกองทุนนี้เข้าไปพร้อมกันเลยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี ก็กำลังพิจารณา

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ให้ดำเนินการเรื่องเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เบื้องต้นได้ประสานไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เรียบร้อยแล้ว หาก สมอ.มีการออกประกาศกำหนดมาตรฐานให้ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ อย.ก็พร้อมที่จะออกประกาศให้เครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เป็นเครื่องมือแพทย์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image