ปลัดแรงงาน เผยอัตราว่างงานของคนไทยลดลง มีผู้ประกันตน ม.33 เพิ่มขึ้นกว่า 3.32% 

ปลัดแรงงาน เผยอัตราว่างงานของคนไทยลดลง มีผู้ประกันตน ม.33 เพิ่มขึ้นกว่า 3.32% 

วันที่ 16 พฤศจิกายน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจแรงงานไทยทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ขณะนี้มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,842,335 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 ที่ผ่านมา (ปี 2565 มีจำนวน 11,462,256 คน) และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 11,788,218 คน)

ส่วนสถานการณ์การว่างงานของไทยในระบบประกันสังคม ในเดือนกันยายน 2566 นั้น มีผู้ว่างงาน จำนวน 229,070 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 แต่ลดลง ร้อยละ 7.58 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 247,846 คน) โดยจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ มีจำนวน 74,067 คน ลดลงร้อยละ 8.16 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลง ร้อยละ 12.64 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (เดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวน 74,067 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.90 และอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในเดือนกันยายน 2566อยู่ที่ร้อยละ 0.8%

ขณะที่ ตัวเลขผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง จากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีจำนวน 36,260 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.00 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และลดลง ร้อยละ 0.29 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนอัตราการเลิกจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.30

Advertisement

ด้านสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ส่งผลถึงการจ้างงานในประเทศนั้น พบว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP Annual Growth Rate) ในไตรมาส 2 ของปี2566 อยู่ที่ร้อยละ 1.80 สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของไทยเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งคาดว่า เป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น เช่นตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่านักท่องเที่ยวในหลายสัญชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และออสเตรเลีย ขณะที่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว และตลาดแรงงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

“ภารกิจของกระทรวงแรงงาน มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งภาคแรงงานเองจะต้องเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายและงานหลักสำคัญของกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ดี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันดำเนินการในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถและให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเเรงงานทักษะสูงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและยังขาดแคลนอยู่มาก ในขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะส่งผลบวกต่อการมีงานทำของไทยมากขึ้น” นายไพโรจน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image