แพทย์สหรัฐคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี’66 ผลงานสกัดโปรตีนผลิตยามะเร็ง-ประเมินพิษพาราฯ

แพทย์สหรัฐคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี’66 ผลงานสกัดโปรตีนผลิตยามะเร็ง-ประเมินพิษพาราฯ

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2566) ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566

สำหรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ประกอบด้วย สาขาการแพทย์ ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.) ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ภาควิชาจักษุวิทยาและพยาธิวิทยา รองผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศูนย์มะเร็งมัวรส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแซนดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา/อิตาลี สาขาการสาธารณสุข ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขากุมารเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ในวันที่ 24 มกราคม 2567 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยในวันที่ 23 มกราคม 2567 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย

ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา

ศ.นพ.นาโปเลโอเน เฟอร์รารา เป็นผู้ค้นพบและสกัดโปรตีนวีอีจีเอฟ ที่มีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด จึงทำการศึกษาทั้งด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโปรตีนวีอีจีเอฟ รวมถึงตัวรับโปรตีนวีอีจีเอฟชนิดต่างๆ และกลไกในการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ทั้งในภาวะปกติ และภาวะที่เกิดพยาธิสภาพ ที่สำคัญคือโรคมะเร็งบางชนิด และโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ หรือโรคเอเอ็มดี ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนายาชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟ ได้แก่ ยาบีวาซิซูแมบ (เอวาสติน) รักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่น ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ยังเป็นองค์ประกอบในการผลิตยายารานิบิซูแมบ (ลูเซนติส) ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยโรคเอเอ็มดี ผลสำเร็จจากการศึกษาเกี่ยวกับโปรตีนวีอีจีเอฟและการรักษาด้วยยาแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคตาอย่างกว้างขวาง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก

Advertisement
ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค

สำหรับ ศ.นพ.แบร์รี่ เอช. รูแมค เป็นผู้มีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลันร้อยละ 40-70 ของผู้ป่วยทั่วโลก โดยรวบรวมผู้ป่วยจากพิษยาพาราฯ เกินขนาด 64 กรณี มาสร้างภาพกราฟ และประดิษฐ์เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราฯ เฉียบพลันที่เรียกว่า Rumack–Matthew Nomogram ตีพิมพ์ในปี 2518 และใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกมาจนถึงปัจจับัน เพื่อช่วยให้แพทย์ วินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากพาราฯ เกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม นำมาสู่แนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานสากลในการรักษาภาวะพิษจากพาราฯ และยังประยุกต์ใช้เครืองมือนี้ร่วมกับประสิทธิภาพของยาเอ็น อะซิติลซิสเตอีน (N-acetylcysteine) ต้านพิษ ช่วยลดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรงจากพาราฯ ลดอุบัติการณ์จากร้อยละ 54 เหลือเกือบ ร้อยละ 0 นอกจากนี้ ยังเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการใช้ Poisindex ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านพิษวิทยาคลินิก ที่ใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัยในโรงพยาบาลและศูนย์พิษวิทยาทั่วโลก สร้างคุณประโยชน์ช่วยชีวิตมนุษยชาติจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 92 ราย จาก 31 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2565, 2564, 2563 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

โดย 31 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม 94 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 4 ราย ได้แก่ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับ ศ.พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับ นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552 และมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จำนวน 6 ราย ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image