กพร.จับมือ ม.เกษตรฯ- 9 มทร. ขับเคลื่อนนโยบาย ‘เครดิตแบงก์’ เล็งปั้นแรงงานขั้นสูง

กพร.จับมือ ม.เกษตรฯ- 9 มทร. ขับเคลื่อนนโยบาย ‘เครดิตแบงก์’ เล็งปั้นแรงงานขั้นสูง

ความคืบหน้ากรณีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) ลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นั้น

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2566) น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงานให้วางแผนพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ และมีความพร้อมทำงานตั้งแต่วัยเรียน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ เพิ่มประสบการณ์ในการทำงาน และมีความพร้อมในการทำงานภายหลังจากสำเร็จการศึกษา เป้าหมายคือ ประชาชนไทยหลุดพ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียน นักศึกษา ในการพัฒนาทักษะฝีมือในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น กระทรวงแรงงาน โดย กพร. ได้ร่วมหารือกับสถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขับเคลื่อนนโยบายธนาคารสะสมหน่วยกิต (CREDIT BANK) เพื่อให้ผู้ที่ผ่านหลักสูตรการอบรมหลักสูตร ของ กพร. สามารถเทียบหน่วยกิตจากการอบรมได้

Advertisement

น.ส.บุปผากล่าวว่า ในการขับเคลื่อนนโยบายธนาคารสะสมหน่วยกิตนั้น เบื้องต้น กพร.ได้หารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง รวม 36 วิทยาเขต เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและยกระดับฝีมือแรงงานโดยใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต ซึ่งเตรียมจะลงนามเอ็มโอยูภายในเดือนธันวาคมนี้

“ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน และวิธีการในการใช้ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานโดยเร็ว ซึ่งหากทำได้ จะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานได้นำประสบการณ์และความสามารถที่มีใบรับรองต่างๆ เข้าในระบบแล้วเทียบเคียงกับคุณวุฒิการศึกษา หรือสามารถนำมาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับค่าจ้างตามฝีมือได้” น.ส.บุปผากล่าว และว่า ในเบื้องต้นจะเสนอสาขาอาชีพนำร่องที่จะมีการเทียบหน่วยกิตกับภาคการศึกษาเพื่อบรรจุในระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต เป็นลักษณะการใช้ เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ หลักสูตรนักบินโดรนเพื่อการเกษตร หลักสูตรการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่กำลังนิยมอย่างมาก และผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ความสนใจอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรช่างไฟฟ้าภายในอาคาร หลักสูตรช่างเชื่อม และหลักสูตรที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

Advertisement

อธิบดี กพร.กล่าวว่า ธนาคารหน่วยกิต เป็นระบบที่สามารถเก็บสะสมหน่วยกิจหรือผลการเรียนจากหลายรูปแบบ ทั้งจากการศึกษา จากการอบรม จากประสบการณ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเทียบวุฒิหรือรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา เมื่อเทียบเคียงกันได้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดอัตราค่าจ้างทั้งตามฝีมือและค่าจ้างตามวุฒิการศึกษาอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image