กรมสุขภาพจิตย้ำ! ครอบครัว-สังคมร่วมเฝ้าระวังพร้อมแจ้งเหตุที่ส่อรุนแรง

กรมสุขภาพจิตย้ำ! ครอบครัว-สังคมร่วมเฝ้าระวังพร้อมแจ้งเหตุที่ส่อรุนแรง

จากกรณีที่ชายวัยกลางคนถือมีดตัดอ้อยบุกเข้าไปบริเวณโรงเรียน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นผลให้ครูและนักเรียนหลบหนีกันอย่างชุลมุน สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่กินยาต่อเนื่องนั้น

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2566) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามที่ สธ.มีนโยบายผลักดันผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดให้ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาของระบบสาธารณสุข และบูรณาการการรักษาโดยการให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ควรดำเนินการควบคู่กันคือ การเฝ้าระวัง และช่วยกันเป็นหูเป็นตาที่จะสังเกต พฤติกรรม สัญญาณเตือนของบุคคลที่จะนำมาซึ่งความรุนแรง เพราะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ได้มีการกำหนดกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป

นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า ตามมาตรา 22 ระบุว่า บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา 1.มีภาวะอันตราย 2.มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยมาตรา 23 ระบุว่า ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการตาม มาตรา 27 ระบุว่า หากประชาชนรายใดพบบุคคลใกล้ชิด หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ หากมีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย สามารถโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ไม่รุนแรง สามารถโทรขอคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323

Advertisement

นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันการรับยาของผู้ป่วยจิตเวชนั้น สะดวกและสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น โดยผู้ป่วยในระบบสามารถทำได้โดยการรับผ่านหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน

“แต่ปัญหาที่พบคือ การที่ผู้ป่วยไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จนบางรายอาการกำเริบและนำไปสู่การก่อความรุนแรง ทั้งนี้ ครอบครัวต้องให้ความร่วมมือสอดส่องให้ผู้ป่วยรับประทานต่อเนื่อง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว หรือความผิดปกติที่เคยมี เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน ฯลฯ จะไม่มีแล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ได้แปลว่าหายขาดต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ อย่าหยุดยาเอง รวมไปถึงต้องห้ามไม่ให้ผู้ป่วยไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หากปฏิบัติตามที่กล่าวมา จะไม่มีปัญหาอาการกำเริบและมีโอกาสหายสูง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยครั้งแรก แต่หากปล่อยให้อาการกำเริบซ้ำแล้วซ้ำอีก จะมีโอกาสป่วยเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ต้องพึ่งยาตลอดชีวิต เช่นเดียวกับผู้ที่มีเป็นโรคประจำตัวทั่วไป” นพ.จุมภฎกล่าว

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบส่วนใหญ่ เป็นเพราะไม่ยอมรับประทานยา เพราะคิดว่าไม่ได้ป่วยหรือเชื่อว่าตนเองหายดีแล้ว ซึ่งหากญาติหรือครอบครัวพบว่า ผู้ป่วยไม่รับประทานยา ให้รีบประสานงานหน่วยงานสาธารณสุขที่ดูแลเพื่อหาทางวางแผนการรักษารูปแบบอื่น และปรับเป็นให้ยาฉีดชนิดออกฤทธิ์นาน เพื่อป้องกันอาการกำเริบต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image