หมอห่วง ‘ไอกรน’ ลามเด็กเล็ก เหตุไม่ได้วัคซีนพื้นฐาน กระตุ้น สธ.เร่งเครื่องฉีดป้องกัน

หมอห่วง ‘ไอกรน’ ลามเด็กเล็ก เหตุไม่ได้วัคซีนพื้นฐาน กระตุ้น สธ.เร่งเครื่องฉีดป้องกัน

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กรรมการและปฏิคมสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงโรคไอกรนในเด็ก ที่มีรายงานว่าพบผู้ป่วยในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุดมีเด็กทารกอายุ 18 วัน เสียชีวิตแล้ว 1 รายว่า ในอดีตโรคไอกรนในมีค่อนข้างมาก กระทั่งมีวัคซีนป้องกัน ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงมากจนแทบไม่พบผู้ป่วยแล้ว โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนนั้นมีมากว่า 40 ปีแล้ว ทั้งนี้ วัคซีนยังถือเป็นอาวุธสำคัญที่ต้องฉีดให้กับทุกคน ไม่เช่นนั้น โรคก็จะกลับมาอีก

“สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ มีผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยส่วนหนึ่ง ที่ขณะนั้นทุกฝ่าย รวมถึงประชาชนเร่งระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้การฉีดวัคซีนพื้นฐานอื่นๆ ลดลง เพราะเด็กเล็กก็ไม่อยากให้ออกจากบ้าน เพราะกลัวติดโควิด-19 จึงทำให้วัคซีนพื้นฐานพร่องไปบ้าง โดยเฉพาะในภาคใต้ที่การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมต่ำกว่าภาคอื่นๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ วัคซีนไอกรนเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อการฉีดวัคซีนลดลง โรคก็จะเริ่มกลับมาใหม่” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวถึงผู้ป่วยโรคไอกรนว่า ในประเทศไทยช่วงก่อนหน้านี้มีการพบผู้ป่วยไม่ค่อยมาก แต่ช่วงหลังพบมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีในการตรวจจับหาเชื้อดีขึ้น ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้น
“ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าโรคไอกรนมีอยู่แล้ว แต่หากถามว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ก็คงเพิ่มขึ้น เพราะระบบการตรวจจับเริ่มทำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีวันปราบโรคนี้ให้หมดสิ้นไปได้ แม้กระทั่งประเทศที่เจริญแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก

Advertisement

แม้ว่าการเพิ่มขึ้นในตอนนี้ ยังไม่ถือเป็นการระบาดใหญ่เหมือนกับโรคโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือ เด็กเล็ก ยิ่งเล็กเท่าไร ยิ่งอันตราย ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนไอกรนเพิ่มเข้าไปในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสที่ 2-3 เพื่อให้ภูมิคุ้มกันไหลไปสู่ทารกในครรภ์” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฉะนั้นการฉีดวัคซีนยังเป็นอาวุธชิ้นเดียวในการปราบโรคไอกรนใช่หรือไม่ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าวว่า เป็นอาวุธที่ดีที่สุด และคุ้มค่าที่สุด หากรอให้เกิดโรคแล้วมารักษา ก็ช้าไป และว่า ขณะนี้โรคโควิด-19 สงบแล้ว ทาง สธ.ก็ควรต้องเร่งเครื่องมาฉีดวัคซีนพื้นฐานให้มากขึ้น

“ในภาพรวม สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทยยังไม่น่ากังวลในตอนนี้ เพียงแต่ในพื้นที่ภาคใต้มีปัจจัยที่ซับซ้อน จึงทำให้อัตราผู้ได้รับวัคซีนน้อยกว่าภาคอื่นๆ จึงทำให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างคือ การเปลี่ยนความคิดของประชาชนในพื้นที่ว่า การรับวัคซีนดีกว่าการไม่รับวัคซีน ทาง สธ.ก็ต้องเร่งเครื่องในประเด็นนี้ เพราะจากที่ทราบฝ่ายสาธารณสุขในพื้นที่ก็เร่งเครื่องอยู่ เพียงแต่ว่า ยังมีข้อติดขัดหลายอย่าง ประชาชนเองก็ต้องร่วมมือกันด้วย เพราะแม้เป็นวัคซีนพื้นฐานก็ไม่สามารถบังคับให้ฉีดได้ ยังต้องฉีดตามความสมัครใจอยู่ดี” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image