กรมสวัสดิการแรงงาน แจงกฎหมาย ‘แรงงานลูกเลิกจ้าง’ แม้บอกล่วงหน้าก็ต้องจ่ายชดเชยตามอายุงาน

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการสำรวจแนวโน้มบริษัท หรือกิจการที่กำลังจะปิดกิจการ หรือเลิกจ้างลูกจ้างว่า ตนเพิ่งสั่งการคณะทำงานไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลเพื่อเฝ้าระวัง เนื่องจากช่วงปลายปีจะเป็นช่วงของการเจรจา ‘สภาพการจ้างใหม่’ สำหรับบริษัทที่มีสภาพการจ้าง และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังโดยใช้ข้อมูลจากหลายภาคส่วน เพราะเรื่องนี้จะแยกออกเป็นการเลิกจ้างบางส่วนและการปิดกิจการเลย ซึ่งตรงนี้เราต้องมาดูแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่าตลาดสินค้าอุตสาหกรรมใดบ้าง ที่เสี่ยงในการดำรงธุรกิจต่อไปได้

เมื่อถามถึงบทบาทของกระทรวงแรงงานในวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มการจ้าง/เลิกจ้างงาน นางโสภากล่าวว่า ถูกต้อง อย่างทางกรมสวัสดิการฯก็จะดูแนวโน้มการเลิกจ้างงาน สำนักงานประกันสังคม ก็จะดูตัวเลขของผู้ที่มายื่นขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน ตัวเลขต่างๆ ก็จะถูกนำมาวิเคราะห์แนวโน้มแรงงาน

เมื่อถามถึงกฎหมายของการบอกเลิกจ้างของนายจ้าง นางโสภากล่าวว่า กรณีบริษัทจะเลิกจ้างลูกจ้าง จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง และเมื่อเลิกจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง มีตั้งแต่น้อยสุด คือทำงานครบ 120 วัน-1 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชยในค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรืออายุงาน 20 ปีขึ้นไป จะต้องได้ค่าชดเชยในค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน ซึ่งตรงนี้มีรายละเอียดตามอายุงานของแต่ละบุคคล

“แต่กรณีการบอกเลิกจ้างน้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง ทางบริษัทจะต้องจ่ายค่าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่เราเข้าใจกันว่า ค่าตกใจ” นางโสภากล่าว

Advertisement

ถามต่อว่าอย่างลูกจ้างหลายคนไม่ทราบว่าหากบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว แต่ก็ต้องได้รับเงินชดเชยตามอายุงาน นางโสภากล่าวว่า ลูกจ้างสามารถมาติดต่อที่กรมสวัสดิการฯได้ เพื่อที่เราจะไปตรวจสอบการเลิกจ้างนั้นๆ และบอกถึงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่ต้องได้รับ แต่กรณีนี้ไม่รวมการเลิกจ้างเพราะการกระทำความผิด หรือการขอลาออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image