‘พิพัฒน์’ เยี่ยมแรงงานนอกระบบกลุ่มไม้ไผ่แปรรูป หนุนจ้างงานในชุมชน ส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่อีสานเหนือ จ.หนองคาย – จ.อุดรธานี ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “กลุ่มไม้ไผ่แปรรูป” โดยมี นางพรทิพย์ รามฤทธิ์ ประธานกลุ่มและสมาชิกให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการกลุ่ม บ้านยามกาใหญ่ ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี
นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่อีสานเหนือในครั้งนี้ มีความตั้งใจนำคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่จ.อุดรธานี ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุถึง 222,278 คน หรือร้อยละ 14.01 จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,563,048 คน จากจำนวนดังกล่าว ถือว่า จ.อุดรธานี เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว นอกจากนี้ จ.อุดรฯ ยังมีแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมากถึง 492,776 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานด้านการเกษตรและประมง ด้านงานบริการ และด้านความสามารถทางฝีมือ ตามลำดับ ในส่วนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน มีทั้งสิ้น 602,364 คน แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 585,543 คน และผู้ว่างงาน 8,953 คน หรือร้อยละ 0.57 ของประชากรทั้งหมด
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์แรงงานดังกล่าว ทำให้แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.อุดรธานีเกี่ยวพันกับแรงงานนอกระบบอย่างยิ่ง และด้วยกระทรวงแรงงานมีภารกิจในการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ให้มีงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือ และมีความปลอดภัยในการทำงาน ในวันนี้ผมจึงลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน “กลุ่มไม้ไผ่แปรรูป” เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังผลการดำเนินงาน การแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม อาทิ กระติบข้าว ขันใส่บาตร พานตักบาตร ตระกร้าไผ่ ตระกร้าหวาย มวยนึ่งข้าว กระเป๋าสตางค์หวาย กระเป๋าถือสานไผ่ ซึ่งเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างไม่รู้จบ
“จากการพูดคุยกับคุณพรทิพย์ ประธานกลุ่ม และยังเป็นอาสาสมัครแรงงานประจำตำบล กำลังสำคัญในการประสานภารกิจของกระทรวงแรงงานกับชาวบ้าน ทำให้ทราบว่า กลุ่มรับงานไปทำที่บ้านไม้ไผ่แปรรูป มีสมาชิก จำนวน 10 คน และมีการแจกจ่ายงานไปยังสมาชิกในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มากกว่า 150 คน สร้างรายได้ 4,000 – 5,000 บาท ต่อเดือนต่อคน ซึ่งนับว่าเป็นรายได้เสริมที่ไม่น้อย การสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในชุมชนสนับสนุนแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้แรงงานไม่ต้องออกจากพื้นที่เพื่อทำงานไกลบ้าน สามารถรับงาน ทำงาน และนำค่าจ้างที่ได้รับใช้จ่ายหมุนเวียนในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างแท้จริง” นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า กกจ.ส่งเสริมให้คนไทยมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านมาตั้งแต่ปี 2545 และติดตามผลการดำเนินการของกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเรียนรู้และต่อยอดผลิตภัณฑ์ สนับสนุนช่องทางการทำการตลาด รวมทั้งให้คำแนะนำวิธีการขอกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนในการขยายกิจการจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอจดทะเบียน ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านตั้งอยู่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน