พิพัฒน์ ยัน ทำตามหน้าที่ รมว.แรงงาน เตรียมเสนอมติ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ เข้า ครม. พรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะให้มีการทบทวนมติการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 2-16 บาท ที่ทางคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในรูปคณะกรรมการไตรภาคีประชุมร่วมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าการปรับขึ้นเพียง 2 บาทต่อวัน นั้นต่ำเกินไป ว่า ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่ในการนำมติในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่ได้รับพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของไตรภาคี คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งได้ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยืนยันว่าพรุ่งนี้ (วันที่ 12 ธันวาคม 2566) จะนำมติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อรับทราบ ส่วนทาง ครม.จะมีความเห็นอย่างไรนั้น ก็ต้องนำมาหารือกันภายในไตรภาคี

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำนั้น อยู่ภายใต้คณะกรรการไตรภาคี และพิจารณาจากหลายเงื่อนไขตามกฎหมายปี 2560 นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หรือไอแอลโอ ดังนั้นการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องอยู่ในกรอบของไอแอลโอด้วย ซึ่งข้อสำคัญคือ ให้พิจารณาจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ทั้งเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ฯลฯ ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มีช่วงของปี 2563-2564 ที่ทั้งโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19

“ผมจึงมองว่าไม่ควรนำมาเป็นฐานประกอบการพิจารณาค่าจ้างในปี 2567 เพราะปี 2566 เราเริ่มดีขึ้น ปี 2567 รัฐบาลมีนโยบายใหม่ เช่น เงินดิจิทัล ผมไม่เห็นด้วย แต่แทรกแซงไม่ได้ มีทางเดียวคือ ยื่นเรื่องเข้า ครม. ถ้า ครม.มีความเห็นว่าให้กลับไปศึกษาใหม่ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะใช้ฐานปี 2560 ปี 2561 ปี2562 ปี 2565 และปี 2566 มาพิจารณา ถ้าออกมาแบบนี้ได้ เราจะได้ค่าจ้างในอนาคตปี 2567 ซึ่งอยู่บนฐานความเป็นจริง มันเป็นเรื่องบังคับในทางกฎหมาย เพราะเราเป็นสมาชิกไอแอลโอ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ดังนั้น ต้องหาช่องทาง เอาเหตุผลมาหารือกัน จะใช้ภาวะวิกฤตมามาพิจารณาด้วย มันไม่แฟร์กับลูกจ้าง” นายพิพัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางข้อหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าสามารถทำได้หรือไม่

Advertisement

เมื่อถามว่า อำนาจตามกฎหมายของ ครม.มีมากน้อยแค่ไหน สั่งให้ทบทวนได้หรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า คิดว่าถ้าไตรภาคียืนยัน ก็ทำอะไรไม่ได้ ยกเว้นว่าหารือนอกรอบกับไตรภาคี แล้วเอาเหตุผลมาคุยกัน ถ้า 2 ใน 3 ฝ่ายเห็นตรงกัน ก็มีโอกาสสูง แต่ที่ประชุมล่าสุด กรรมการไตรภาคีมีความเห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 78 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน ซึ่ง ครม.แต่งตั้งเป็นกรรมการ และข้าราชการกระทรวงแรงงาน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรา 87 ระบุว่า ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และ มาตรา 88 กำหนดว่า เมื่อได้ศึกษาข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 87 แล้ว ให้คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือโดยเสนอต่อ ครม.เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image