‘พิพัฒน์’ เผยขั้นตอนงบกลาง 750 ล. เยียวยาแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลคนละ 5 หมื่น
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (12 ธันวาคม 2566) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 750 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ปีงบประมาณ พ.ศ.2567
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้นของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง กระทรวงแรงงานจึงได้มีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานไทยจากการขาดรายได้ในการประกอบอาชีพ โดยเสนอของบเพื่อใช้จ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทย ซึ่งประมาณการแรงงานไทย จำนวน 15,000 คนๆ ละ 50,000 บาท จะมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566-กันยายน 2567
“โดยแรงงานที่ได้รับประโยชน์ แบ่งเป็น 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มแรก แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล กลุ่มที่ 3 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้ Re-Entry Visa แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ เนื่องจากกรมการจัดหางาน (กกจ.) ชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล และ กลุ่มที่ 4 ประมาณการแรงงานไทยที่คาดว่าจะประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย/เดินทางกลับไทยเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน” นายพิพัฒน์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการหลังจากที่ ครม.มีมติอนุมัติโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลแล้ว กระทรวงแรงงานจะขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ประมาณ 3 – 5 วัน และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาก็สามารถยื่นเอกสารคำร้อง ณ กระทรวงแรงงาน หรือสำนักงานแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัด โดยเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานั้นต้องยื่นคำร้องด้วยตนเองเท่านั้น
“ส่วนกรณีเสียชีวิต ให้ทายาทผู้มีสิทธิเป็นผู้ยื่นคำร้อง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะมีคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วน ก็จะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิหรือทายาทผู้มีสิทธิ (กรณีเสียชีวิต) ภายใน 7 – 10 วัน โดยระหว่างนั้น ผู้ยื่นคำร้องสามารถตรวจสอบสถานะคำร้องได้โดยการสแกน QR CODE ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้อง” นายพิพัฒน์ กล่าว