นักวิชาการห่วง! ใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมน้อย จี้ตั้งทีมสังเกตการณ์ช่วงเข้าคูหา

นักวิชาการห่วง! ใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมน้อย จี้ตั้งทีมสังเกตการณ์ช่วงเข้าคูหา-นับคะแนน

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ซึ่งจัดให้ผู้ประกันตนสามารถลงคะแนนได้ครั้งแรกในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ว่า ฝ่ายลูกจ้างได้ต่อสู้มานาน เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เลือกผู้แทนที่จะไปเป็นบอร์ดโดยตรง แต่พอได้ตามข้อเรียกร้อง ตามหลักการควรให้ผู้ประกันตนเลือกตั้งมากสุด จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด 23.7 ล้านคน แต่ผลสุดท้ายมีผู้มีสิทธิไม่ถึง 9 แสนคน

“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องให้ผู้ประกันตนลงทะเบียนก่อนถึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อผู้ประกันตนต่างก็มีบัตรประกันสังคมกันอยู่แล้ว ทำไมต้องสร้างความยุ่งยากอีก ขนาดการเลือกตั้งระดับชาติไม่เห็นต้องลงทะเบียนก่อน ผมเคยเป็นประธานอนุแรงงานชุดหนึ่ง และเข้าประชุมร่วมกับบอร์ดประกันสังคม เราเห็นได้ชัดว่าบอร์ดที่มาจากฝ่ายลูกจ้างไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ เขาไม่เข้าใจเรื่องการลงทุน ผมถึงอยากให้ได้คนที่มีความรู้มีความสามารถเข้าไป แต่การคัดเลือกบอร์ดในอดีตไม่สามารถคัดคนที่มีความรู้ มีความสามารถเข้าไปได้เพราะมีการล็อบบี้กัน” รศ.ณรงค์ กล่าวและว่า เป็นห่วงว่า การใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ประกันตนจะไปใช้สิทธิน้อย เพราะหน่วยเลือกตั้งที่จัดขึ้นไม่ได้พิจารณาว่าพื้นที่ไหนมีผู้ประกันตนหนาแน่นแค่ไหน ทำให้ผู้ประกันตนที่อยู่ห่างไกลไม่ไปเลือกตั้ง

รศ.ณรงค์ กล่าวว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง มีจำนวนน้อย แต่มีอำนาจมาก คนจำนวนมากที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจน้อย ดังนั้น จึงต้องหาจุดลงตัวให้ได้ ที่สำคัญคือ เงินกองทุนประกันสังคมกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ฝ่ายที่นำไปใช้มากที่สุด คือ รัฐบาล ผ่านการขายพันธบัตรต่างๆ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เลือกตั้งครั้งนี้กี่คะแนนถึงชนะการเลือกตั้ง รศ.ณรงค์ กล่าวว่า คาดว่า 2 หมื่นคะแนน โดยผู้สมัครที่มีฐานสหภาพจะได้เปรียบกว่าผู้สมัครอิสระ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลคือ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งส่งไปถึงผู้ประกันตนน้อยมาก นอกจากนี้ ยังไปตัดสิทธิผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก

ด้าน นางสุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมถูกถ่วงเวลามาโดยตลอด การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีกระแสไม่เต็มใจมาก นำไปสู่การไม่เตรียมการที่ดี และมีผู้ประกันตนตกหล่นไปมาก เช่น ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ และผู้ประกันตนที่บ้านไกล

“การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ เพราะเลือกทั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ส่งผลต่อกองทุนประกันสังคม ดังนั้น ควรมีกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้ง เช่น การตั้งคนนอกร่วมสังเกตการเลือกตั้ง หรือการนับคะแนน เหมือนกับการเลือกตั้งใหญ่ เพื่อร่วมกันตรวจสอบจะได้ไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง” นางสุนี กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image