ผู้ว่าสามจังหวัดใต้ฯ ตั้งทีมระดมฉีด ‘วัคซีนไอกรน’ ให้คนท้อง 2.5 พันคน หลังพบคลัสเตอร์ในโรงเรียน

ผู้ว่าสามจังหวัดใต้ฯ ตั้งทีมระดมฉีด ‘วัคซีนไอกรน’ ให้คนท้อง 2,500 คน หลังพบคลัสเตอร์ในโรงเรียน รุกใช้แผนคุมโรคให้ยาในผู้สัมผัสทุกราย

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นพ.ชูพงศ์ แสงสว่าง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไอกรนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่า การระบาดของโรคไอกรนเริ่มจาก จ.ปัตตานีมา จ.นราธิวาส แล้วมาถึง จ.ยะละ ที่พบผู้ติดเชื้อ 5 รายใน อ.เมือง และ อ.บันนังสตา จึงมีการลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกันระหว่าง สคร.12 กับกองระบาดวิทยาส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. – 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการชัดเจน 70 ราย ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 3 ราย แต่ที่สำคัญคือเป็นการติดเชื้อในโรงเรียนมีทั้งนักเรียนคุณครู จึงเป็นการแพร่โรคในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน นอกจากนั้นยังพบผู้สัมผัสผู้ป่วยในโรงเรียน 31 ราย และมีผู้ที่มีอาการสงสัย เช่น ไอ เจ็บคอ อีก 12 ราย อย่างไรก็ตาม วิธีการควบคุมโรคไอกรนจะต้องใช้วิธีการให้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในผู้ป่วยยืนยัน ผู้สัมผัส และผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายสงสัย โดยเป็นยาเหมือนกับผู้ป่วยยืนยัน ทั้งนี้ การรับประทานยารักษาโรคไอกรนจะเป็นยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 5 – 14 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

“จากนั้นได้มีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้ที่มีอาการเข้าข่ายในพื้นที่อื่นเพิ่มเติม ทำให้เจอผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น จ.ยะลา 15 ราย แต่ด้วยการควบคุมโรคที่นับทั้งผู้ป่วยยืนยัน ผู้สัมผัส และผู้ที่มีอาการสงสัย สรุปแล้วใน 3 จังหวัดมีการควบคุมโรครวม 379 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยยืนยัน 175 ราย ซึ่งตัวเลขเพิ่มขึ้นเยอะพอสมควร จากการสอบสวนโรคพบวว่าในกลุ่มผู้ป่วยนั้น ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไอกรนเลย 66% ได้รับแต่ไม่ครบ 34%” นพ.ชูพงศ์กล่าว

นพ.ชูพงศ์กล่าวต่อว่า โดยตัวเลขการเสียชีวิตสะสมในปีนี้ 2 ราย เป็นเด็กทารกอายุ 18 วันและ 1 เดือน ที่ยังไม่ถึงเกณฑ์การรับวัคซีนป้องกันไอกรนที่จะต้องรับการฉีดตอนอายุ 2 เดือน ทำให้เด็กไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่จริงๆ แล้วภูมิฯ ที่เด็กจะได้รับ สามารถรับจากแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ โดยแม่จะต้องมารับวัคซีนป้องกันไอกรนขณะตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อสร้างภูมิฯ ให้กับทารกที่จะคลอดออกมา โดยตอนนี้ใน 3 จังหวัด มีหญิงตั้งครรภ์ราว 2,500 คน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ได้จัดการแผนการนำวัคซีนลงไปฉีดในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ผู้ตรวจราชการสาธารณสุขเขต 12 เป็นประธานในการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เพื่อช่วยสนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด

Advertisement

“วัคซีนเป็นยุทธศาสตร์การควบคุมโรคที่สำคัญที่สุด ซึ่งมีการวางแผนกันตั้งแต่เริ่มมีการระบาด โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายแรกคือ เด็กทารก ซึ่งมีการปรับการให้วัคซีนป้องกันไอกรนในเด็ก เดิมจะฉีดตอน 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ก็เปลี่ยนฉีดให้เร็วขึ้นตามข้อมูลทางวิชาการ คือ เข็มที่ 1 ฉีดตอน 6 สัปดาห์ เข็มที่ 2 ห่างออกไป 4 สัปดาห์ และเข็มที่ 3 ห่างออกไปอีก 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กติดเชื้อเสียชีวิต แต่การฉีดวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจจะไม่ใช่เรื่องของวัคซีนฮาลาลหรือไม่ แต่อยู่ที่ความกังวลของพ่อแม่เองที่กลัวว่าฉีดวัคซีนแล้วเด็กจะมีอาการไม่สบาย ซึ่งตรงนี้ก็มีแนวคิดที่มีคนเสนอว่า หากเด็กรับวัคซีนแล้วไม่สบาย พ่อแม่ต้องไปทำงาน ก็อาจจะให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยดูแล หรือเปิดศูนย์รับดูแลหลังการฉีดวัคซีน แต่เรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดที่ต้องหารือกันต่อไป” นพ.ชูพงศ์กล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุการจ่ายยาให้กับผู้สัมผัสผู้ป่วยในกลุ่มที่ยังไม่มีอาการ นพ.ชูพงศ์กล่าวว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการ ‘ตัดวงจรแพร่โรค’ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไอกรน Bordetella pertussis (B. pertussis) มีอัตราการติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการมากพอสมควร บางรายงานระบุไว้ว่ามากกว่าร้อยละ 50 แต่คนกลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งเป็นความสามารถในการแพร่โรคที่สูงมาก เราจึงต้องตัดวงจรด้วยการให้ยาในผู้สัมผัสด้วย

“เรื่องนี้เป็นความสำคัญ ที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และมารับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไอกรน นอกจากนั้น ถ้าจะดำเนินการเรื่องนี้ให้สำคัญ ทางทีมผู้บริหารระดับจังหวัดจะต้องเข้าไปช่วย และกระตุ้นเตือนให้กับประชาชน เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าอยากฉีดวัคซีนไอกรนในพื้นที่ ให้เพิ่มขึ้นเดือนละ 10% และคาดว่าจะได้ถึง 80-90% ในตอนสิ้นปี แต่ตอนนี้การฉีดวัคซีนไอกรนครบเข็มที่ 3 เพิ่มขึ้นเพียง 5 – 10% ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย” นพ.ชูพงศ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image