การเข้าถึงบริการสุขภาพ ของ ผู้อพยพย้ายถิ่น-แรงงานข้ามชาติ เพื่อความเสมอภาค

การให้ผู้อพยพย้ายถิ่น-แรงงานข้ามชาติ เข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นความสำคัญ เพื่อความเสมอภาคและความมั่นคงด้านสุขภาพ สำหรับเราทุกคน

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 – 21 ธันวาคม 2566
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2566
บทความพิเศษ | นายแพทย์นิโคลาส์ ดูริเยร์

ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์

****

Advertisement

วันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล” (International Migrants Day)

นับเป็นวาระอันเหมาะสมที่จะพูดถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่ายของแรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่า ไม่มีผู้ใดปลอดภัยได้แท้จริง จนกว่าทุกๆ คนในสังคมนั้นจะปลอดภัย

Advertisement

จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยในรอบที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2563 มีต้นกำเนิดจากชุมชนผู้อพยพย้ายถิ่นแรงงานพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร1 ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มักเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้พยายามพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศไทย

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น เดือนธันวาคม 2564 ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ออกมติ 14.2 ว่าด้วยการคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม

 

คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ฟรี

แต่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึง

ช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับพลเมืองไทย

กล่าวคือ คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรี ภายใต้ระบบประกันและการคุ้มครองสุขภาพต่างๆ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงสวัสดิการดังกล่าวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องและมีความท้าทายมาก

จำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีประมาณ 4 ล้านคน2 และร้อยละ 87 หรือประมาณ 2.5 ล้านคนของจำนวนแรงงานข้ามชาติดังกล่าวจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย3 มีหลักประกันสุขภาพคุ้มครอง

โดยคนกลุ่มนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อสมัครโครงการประกันสุขภาพภายใต้โครงการประกันสังคม กระทรวงแรงงาน หรือกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุข แต่ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียน จึงไม่มีความคุ้มครองใดๆ

นอกจากนี้ คาดว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งไม่มีประกันสุขภาพ

เมื่อคนกลุ่มนี้เจ็บป่วยจนต้องใช้บริการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐหรือคลินิกเอกชน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และอาจต้องเผชิญกับค่ารักษาจำนวนมากจนมิอาจรับผิดชอบไหว

บางกรณีโรงพยาบาลรัฐเองก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณ4

ซ้ำร้ายแรงงานเหล่านี้มีความวิตกกังวลว่าอาจจะถูกรายงานต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและถูกส่งกลับหากไปรับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของรัฐ จึงมักจะดูแลรักษาตนเอง ยกเว้นเสียแต่จะป่วยหนักเข้าจริงๆ ซึ่งระหว่างนั้นเชื้อโรคจากผู้ที่ป่วยก็แพร่กระจายไปทั่วแล้ว

 

เศรษฐกิจไทย

ต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างยิ่ง

แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยมีส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ร้อยละ 4.3% ถึง 6.6%5 และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลกที่มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ6

ธุรกิจในหลายภาคส่วนพึ่งพาอาศัยการจ้างงานของแรงงานอพยพอย่างมาก อาทิ อุตสาหกรรมการประมง การก่อสร้าง เกษตรกรรม และงานบ้าน โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะรับจ้างทำงานประเภทที่ยาก (difficult) สกปรก (dirty) และอันตราย (dangerous)7

อย่างไรก็ตาม การจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมไทย

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุปสรรคเรื่องการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทย โดยคนมักจะเข้าใจว่าเป็นความผิดของแรงงานข้ามชาติฝ่ายเดียวในการไม่ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง

แต่ในความเป็นจริง นายจ้างมีบทบาทสำคัญในการขึ้นทะเบียนแรงงาน

นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนใช้ระยะเวลานาน ทั้งมีค่าใช้จ่ายสูง มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจ

แรงงานข้ามชาติจำนวนมากรับจ้างทำงานในลักษณะชั่วคราวแบบรายวัน ในสถานที่ต่างกันไป ทำให้ยากและไม่สะดวกต่อการขึ้นทะเบียนนายจ้างเฉพาะราย หรือมีภาระการบริหารจัดการเปลี่ยนนายจ้าง

แม้จะมีความซับซ้อนดังกล่าว แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายก็ยังถูกตีตรากล่าวโทษ

ดังนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องการคุ้มครองสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ความรู้สึกของคนไทยจึงไม่ต้องการให้เงินภาษีถูกนำไปใช้เป็นสวัสดิการเพื่อดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ที่ทำผิดกฎหมายเหล่านี้

 

แก้ปัญหาด้วยโครงการแนวคิดใหม่

: กองทุนเอ็มฟันด์ (Migrant FUND)

หลายทศวรรษที่ผ่านมา การดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติเป็นหัวข้อถกเถียงเชิงนโยบายที่สำคัญท่ามกลางทัศนคติที่มีความอ่อนไหวและเข้าใจคลาดเคลื่อน

เกิดการริเริ่มโครงการแนวคิดใหม่ที่ชื่อ “เอ็มฟันด์” (M-FUND) โดยมูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ เป็นกองทุนสุขภาพต้นทุนต่ำ ไม่แสวงหาผลกำไร สำหรับดูแลสุขภาพผู้ย้ายถิ่นผู้ซึ่งไม่มีประกันสุขภาพจากรัฐ

เอ็มฟันด์เริ่มดำเนินงานลักษณะโครงการนำร่องในเดือนกันยายน 2560 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตามแนวชายแดน ต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปทั่วจังหวัดตาก สระแก้ว กาญจนบุรี เชียงราย อุบลราชธานี และตราด

แรงงานข้ามชาติที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่เอ็มฟันด์ที่ทำงานในชุมชน โดยสมทบเงินเป็นรายเดือน เดือนละ 100 บาท/คน (แผนพื้นฐาน) จะได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ สูงสุดถึง 5,000 บาท/ปี สำหรับบริการประเภทผู้ป่วยนอก

และ 45,000 บาท/ปี สำหรับบริการประเภทผู้ป่วยใน

ข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มีโรงพยาบาลรัฐกว่า 200 แห่ง ให้ความร่วมมือกับโครงการให้บริการด้านสุขภาพแก่สมาชิกเอ็มฟันด์

ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 มีแรงงานข้ามชาติลงทะเบียนแล้วมากถึง 69,000 คน ครอบคลุมการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกจำนวน 82,000 ครั้ง และประเภทผู้ป่วยในอีก 12,000 ครั้ง

แม้ว่าตัวเลขนี้จะเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ยังไร้ประกันสุขภาพจากรัฐ แต่กองทุนนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากแรงงานข้ามชาติด้วยความพึงพอใจ เช่นเดียวกันกับนายจ้าง รวมถึงโรงพยาบาลของรัฐ

“เราเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการเอ็มฟันด์มาหลายปีแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นโครงการที่ดีมากๆ กลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นเหล่านี้เข้ามาทำงานในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก เราก็ให้บริการเหมือนๆ คนไทยทุกอย่างไม่แตกต่าง และเราให้ความสำคัญกับเอ็มฟันด์ จึงให้ความร่วมมือสนับสนุนอย่างเต็มที่”

อนุชาติ คล่องยุทธ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลโคกสูง จังหวัดสระแก้ว หนึ่งในโรงพยาบาลที่ร่วมมือกับโครงการ กล่าว

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

มูลนิธิดรีมลอปเม้นท์ตระหนักดีว่าโครงการเอ็มฟันด์ที่ปัจจุบันดูแลสมาชิกเพียง 69,000 ราย จากแรงงานข้ามชาติไร้ประกันสุขภาพมากกว่า 1 ล้านคนนั้น เป็นจำนวนเล็กน้อยมากจนมิอาจส่งผลในระดับนโยบาย

มูลนิธิเป็นเพียงหนึ่งในผู้สนับสนุนให้รัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย ได้พิจารณาถึงผลประโยชน์ด้านสาธารณสุขทั้งในระดับปัจเจกและระดับสาธารณะ หากแรงงานข้ามชาติทุกๆ คนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่คำนึงถึงสถานะการจดทะเบียน

เพราะโดยหลักการแล้ว แรงงานข้ามชาติทุกคนมีส่วนต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น อีกทั้งแรงงานข้ามชาติทุกคนเป็นผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อสินค้าและบริการ

และที่สำคัญที่สุด คนไทยทุกคนจะยังคงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ตราบใดที่ “ทุกคน” ในสังคมยังไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริง เมื่อยังมีคนร่วมสังคมเดียวกันอีกถึง 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการดูแลสุขภาพใดๆ เลย

อ้างอิง :

1. BBC News ไทย, โควิด-19 : สธ. ประกาศการระบาดระลอกใหม่ในไทย ผู้ติดเชื้อจากกรณีสมุทรสาครเกือบ 700 รายใน 3 วัน, 20 ธันวาคม 2563

2. International Office for Migrations, Thailand. Labor motility and social inclusion. 2019

3. กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นโยบายและแนวทางการดำเนินงาน การตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ หน้า 3, มกราคม 2566

4. จิราลักษณ์ นนทารักษ์ และคณะวิจัย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, รูปแบบระบบบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย : งบประมาณการจัดบริการสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว, 20 กรกฎาคม 2563

5. International Labour Organization (ILO) report 2017, How Immigrants Contribute to Thailand’s Economy

6. ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย, BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 2/2564 ข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงนโยบาย แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย, มีนาคม-เมษายน 2564

7. อภิยุกต์ อำนวยกาญจนสิน, กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมไทย “แต้มต่อหรือแค่ถ่อค้ำ”, สิงหาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image