ชูซอฟต์เพาเวอร์ ปลดล็อก ‘นกกรงหัวจุก’

ชูซอฟต์เพาเวอร์ ปลดล็อก ‘นกกรงหัวจุก’

คนเลี้ยงนกกรงหัวจุกต่อสู้ยาวนานนับสิบปี เพื่อหวังปลดล็อกการควบคุมเลี้ยงนกกรงหัวจุก ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกจากทั่วประเทศ ภายใต้การนำของชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกในจังหวัดสงขลา เพื่อให้ปลดนกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า ครอบครอง จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์ยืนยันยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่ามีการล่านกในธรรมชาติเพื่อนำมาเลี้ยงอยู่หรือไม่
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม กลุ่มผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขนรวบรวมรายชื่อมากกว่า 1 แสนรายชื่อ ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการควบคุม เปิดทางเพื่อให้สามารถเลี้ยงนกกรงหัวจุก เพาะขยายพันธุ์ ลงสนามแข่งได้อย่างเสรี

“วิชัย มาเด็น” ประธานชมรมผู้เลี้ยงนกกรุงหัวจุกจังหวัดสงขลา เล่าถึงความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกต่อสู้เพื่อปลดล็อกมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดเมื่อปี 2557 ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก สำหรับครั้งนี้มีฝ่ายการเมือง ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ให้การสนับสนุน รวมถึงผู้เลี้ยงนกเองต่างก็ร่วมมือร่วมใจกันล่ารายชื่อ

Advertisement

ผู้เลี้ยงและอาชีพที่เกี่ยวเนื่องได้รายชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อ แสดงตัวตนชัดเจน ครั้งนี้จึงเป็นความหวังของเรา ขณะเดียวกันศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ให้ความสนใจ หยิบยกนกกรงหัวจุกเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ควบคู่ไปกับ วัวชน ไก่ชน

เหตุที่ ศอ.บต.ผลักดันให้นกกรงหัวจุกเป็นซอฟต์เพาเวอร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเมื่อปี 2553 ได้มีการบันทึกสถิติครั้งแรกในสนามแข่งนกกรงหัวจุกอาเซียน ในจังหวัดยะลาที่มีนกกรงหัวจุกร่วมแข่งในสนามนี้ถึง 6,044 นก ในขณะที่มีนกที่ไม่ได้ลงสนามแข่งอีกประมาณ 3,000 นก และในปี 2554 ก็มีการทำลายสถิติด้วยจำนวนนกที่ลงสนามแข่งมากถึงประมาณ 8 พันกว่านก นี่เป็นจำนวนนกเพียง 1 สนาม และวันนี้มีนกกรงหัวจุกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ข้อกังวลที่ว่านกกรงหัวจุกอาจจะสูญพันธุ์ไปนั้นจะไม่เกิดขึ้น

ด้าน “มานิตย์ อินทองปาน” ประธานชมรมนกกรงแฟนซี จ.ตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวแทนเครือข่ายผู้เลี้ยงนกภาคใต้และทั่วประเทศได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำรายชื่อกว่า 150,000 รายชื่อ เสนอให้ปลดล็อกนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองและให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ประชาชนสามารถเลี้ยงได้โดยไม่ผิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า สำหรับจังหวัดตรังรวมรวมได้กว่า 2,500 รายชื่อ

Advertisement

“รายชื่อ 1.5 แสนรายชื่อที่เครือข่ายผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกร่วมกันล่ารายชื่อ เป็นไปตามข้อเสนอแนะครั้งแรกที่เคยเข้าไปยื่นหนังสือที่รัฐสภาก่อนหน้านี้ โดยมีแนะนำให้ผู้เรียกร้องกลับไปรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนมาจำนวน 1 แสนรายชื่อ เพื่อได้เห็นพลังว่ามีผู้เลี้ยงนกมีความต้องการที่จะปลดล็อกนกกรงหัวจุกจริงๆ เพื่อจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้สามารถเลี้ยงได้แพร่หลายถูกต้องตามกฎหมาย สร้างรายได้ให้ครอบครัว”

“เพื่อยืนยันว่าเป็นความต้องการจริงๆ ใช้เวลา 1 เดือนเต็มก็ได้ครบ ทั้งนี้หลังจากยื่นหนังสือในครั้งนี้แล้วหากไม่เป็นผลก็พร้อมจะเดินหน้าเรียกร้องต่อไป แต่เท่าที่สอบถามกับ ส.ส.หลายๆ คน ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล บอกว่าพร้อมจะสนับสนุน และอาจนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย”

นายมานิตย์ระบุด้วยว่า ทุกวันนี้สนามประชันนกกรงหัวจุกในพื้นที่ จ.ตรังยังคงมีนัดประชันเสียงนกกรงหัวจุก มีเครือข่ายผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกนำนกไปร่วมแข่งขันกันคึกคักทุกสนาม ผู้เลี้ยงต่างบอกตรงกันว่าอยากให้รัฐปลดล็อก เพราะขณะนี้คนเลี้ยงมีเกือบทุกบ้านแล้วและไม่ได้ไปเอานกจากธรรมชาติมาแข่งขัน แต่เอามาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงที่มีอยู่จำนวนมากในจังหวัดตรัง

ขณะที่อีกด้านในส่วนของกลุ่มอนุรักษ์นก โดยเฉพาะนกกรงหัวจุกมีความเห็นที่แตกต่างและมีข้อกังวล ในเรื่องความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของนกป่า การลอบจับนกป่ามาเลี้ยง โดยมองว่าขั้นตอนการพิจารณาจะปลดสัตว์ชนิดไหนออกจากบัญชีสัตว์คุ้มครอง ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนนั้นต้องมีการศึกษาประชากรในธรรมชาติ พิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความเสี่ยงสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ

เรื่องนี้ต้องใช้เวลา

“ขอยืนยันด้วยการกระทำว่าไม่มีการล่านกธรรมชาติ ไม่มีการซื้อขายนกในธรรมชาติ การปลดล็อกจึงควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ภายใต้ข้อมูลที่เป็นจริง ข้อมูลเชิงวิชาการ ที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาเป็นหลัก”

ความเห็นที่แตกต่างน่าจะนำข้อมูลข้อเท็จจริง และสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาแสวงจุดร่วมกันจากทั้งสองฝ่ายหาข้อสรุปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image