ผู้ป่วยจิตเวชจี้ สปสช.ดัน ‘ยาต้านเศร้า’ เข้าบัญชีหลัก บัตรใบเดียวรักษาที่ไหนก็ได้

ผู้ป่วยจิตเวชจี้ สปสช.ดัน ‘ยาต้านเศร้า’ เข้าบัญชีหลัก บัตรใบเดียวรักษาที่ไหนก็ได้

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) นำโดย น.ส.ฐิตินบ โกมลนิมิ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า และ นายธนพลธ์ ดอกแก้ว เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) และประธานเครือข่ายโรคเรื้อรังยื่นหนังสือ “ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ข้อเสนอ นโยบายเพื่อผู้ป่วยซึมเศร้า” 7 ประเด็นจากผลงานวิจัยโดยผู้ป่วยซึมเศร้า ต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)

น.ส.ฐิตินบ กล่าวว่า ในวัฎจักรของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีคนอยู่อย่างน้อย 3 กลุ่มหลัก คือ 1.คนที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนอาการปรากฏแล้วและไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาพยาบาล 2.คนที่รู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล และ 3.ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ระหว่างการรักษาและทุกข์อยู่กับระบบสุขภาพอย่างเดียวดาย ช่วงหลายปีนี้ มีผู้บริโภคหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและญาติผู้ป่วย ร้องเรียนและปรึกษาปัญหาการใช้บริการด้านการรักษาในระบบสุขภาพหลายรายมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงริเริ่มโครงการวิจัย “ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่ความทุกข์ส่วนบุคคล เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” ในปี 2566 ผลการวิจัยพบปัญหาการส่งต่อในทุกระบบหลักประกันสุขภาพไม่เอื้อกับผู้ป่วยทั้งขาดแคลนยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ยามีราคาแพง และยาบางรายการที่จำเป็นต่อการรักษาไม่ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ให้บริการอ้างเก็บเงินส่วนต่างจากผู้ป่วยเกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนผู้ป่วยบางรายต้องหยุดยาเอง หยุดการรักษาและกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์และนักจิตบำบัดทำให้การเข้าถึง ส่งต่อ รอคิวการรักษาเป็นเวลานาน ขาดทางเลือกในการรักษา เป็นต้น

“ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเร่งด่วน คือ 1.ให้ สปสช.เร่งรัดการเพิ่มยาต้านเศร้าและยาจิตเวชที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 4 รายการ เช่น โอแลนซาปีน (Olanzapine) อะริพิพราโซล (Aripiprazole) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) และ เมธธิลฟินิเดท (Methylphenidate) ขณะนี้เรื่องยังติดอยู่ที่อนุกรรมการพิจารณาบัญชียาหลักแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และดีกว่ายาที่มีในระบบขณะนี้ ตามคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต ราช วิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเสนอไว้ตั้งแต่ปี 2564 ตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. เพื่อต่อรองราคายาให้ถูกลงเพื่อนำไปสู่การทำระบบเบิกจ่ายยา ส่งยาตรงไปถึงโรงพยาบาล คลินิกจิตเวช และร้านยาทั่วประเทศ และเร่งแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่ายาส่วนต่างจากผู้ป่วย รวมทั้งผลักดันยาดังกล่าวให้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย เพื่อลดต้นทุนการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย และลดค่าใช้จ่ายด้านยาของระบบสุขภาพโดยรวม” น.ส.ฐิตินบ กล่าว

Advertisement

น.ส.ฐิตินบ กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่รักษาได้แต่ด้วยซับซ้อนในการรักษาและเข้าถึงบริการไม่สะดวก ยามีราคาแพง ทำให้ผู้ป่วยบางรายหยุดยาเอง จึงกลับมาป่วยซ้ำและกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรัง ขณะที่ยาที่มีอยู่ในบัญชียาหลักฯ ส่วนใหญ่เป็นยากลุ่มกลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทเพียงชนิดเดียว หรือ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors; SSRIs ) เน้นหนักไปที่ยับยั้งการเก็บกลับของเซโรโทนิน แม้ยังสามารถรักษาผู้ป่วยได้ดี แต่สำหรับผู้ป่วยบางกลุ่มที่อาการรุนแรง หรือกลายเป็นโรคเรื้อรังจำเป็นต้องใช้ยาอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิด (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors; SNRIs) เช่น เวนลาฟาซีน ยาใหม่ ติดสิทธิบัตร และราคาแพง เป็นภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยอย่างมากและมักถูกหน่วยบริการเรียกเก็บค่าส่วนต่างการรักษา

“หากแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษา หรือจำเป็นต้องได้รับยานอกบัญชีฯ การเรียกเก็บค่าส่วนต่างถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุว่า สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล ไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม หรือ ‘เรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนดไว้ (Extra Billing) จากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการร้องเรียนกับ สปสช. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคจำนวนมาก” น.ส.ฐิตินบ กล่าวและว่า ตนในฐานะผู้ป่วยซึมเศร้า ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงที่กลับมาป่วยซ้ำหลายครั้ง และมีแนวโน้มต้องกินยาต้านเศร้าประคองอาการไปตลอดชีวิต ซึ่งป่วยมาแล้ว 8 ปี โดยเฉพาะ 4 ปี หลังจำเป็นต้องพึ่งพาบริการบัตรทองแต่ถูกเรียกเก็บเงินยานอกบัญชียามาเกือบตลอด เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เพิ่งเจรจากับหน่วยบริการโดยไม่ให้เสียความสัมพันธ์กับแพทย์ผู้รักษา ทำให้การรักษาพยาบาล 3 ครั้งหลังไม่ต้องจ่ายเงินแล้ว และว่าสิทธิที่มีอยู่แล้ว แต่กลับต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธินั้นมา และมีผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่รู้ ไม่กล้าเจรจากับแพทย์ผู้รักษา

น.ส.ฐิตินบ กล่าวว่า 2 สืบเนื่องจากพรรคเพื่อไทย (พท.) มีนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” โดยจะเริ่มนำร่อง 4 จังหวัด ต้นปี 2567 และมีเป้าหมายจะขยายทั่วประเทศภายในตุลาคมปีเดียวกัน นโยบายดังกล่าวดี ที่เน้นให้ สปสช.เป็น Financial data hub ผู้ป่วยสามารยื่นบัตรประชาชนเข้ารักษาที่หน่วยบริการไหนก็ได้ไปคลินิกเอกชน หรือใช้บริการร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ สปสช. จะตามจ่ายเงินให้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของหน่วยบริการสุขภาพ และไม่ต้องใช้ใบส่งต่อข้ามเครือข่าย แต่ในกรณีของผู้ป่วยซึมเศร้ามีข้อจำกัดหลายอย่างอาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะการขาดแคลนจิตแพทย์ ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 850 คน และกว่าครึ่งหนึ่งกระจุกอยู่ในโรงพยาบาลรัฐและพื้นที่กรุงเทพมหานคร มากกว่า 200 คน ในขณะที่บางจังหวัด มีจิตแพทย์เพียงคนเดียว ยิ่งสถานการณ์หลังโรคโควิด-19 ระบาด แนวโน้มผู้ป่วยซึมเศร้าที่อายุมากกว่า 15 ปีเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 ล้านคน กลุ่มวัยแรงงานและคนหนุ่มสาวแสดงอาการของโรคนี้มากขึ้น และมีแนวโน้มว่า ผู้ป่วยจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ มีคนเสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น ซึ่งการขาดแคลนจิตแพทย์สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล บางสถานพยาบาลจิตแพทย์ต้องรับรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยถึงวันละ 20 – 50 คน ทำให้การรอคิวและช่วงเวลาในการเข้ารักษาเฉลี่ย 30 นาที ผู้ป่วยบางคนได้คุยกับแพทย์น้อยมาก เพื่อเฉลี่ยเวลาให้กับผู้ป่วยที่รอคิวอยู่จำนวนมาก

Advertisement

“ถ้าไม่มีการจัดตั้ง ‘คลินิกจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ’ และดึงสหวิชาชีพด้านจิตเวชเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิในระบบสุขภาพ และในเขตเมือง ก็ไม่มีทางที่บัตรประชาชนใบเดียวจะรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่ไหนก็ได้ คลินิกจิตเวชจึงมีความจำเป็นเพื่อให้การรักษา ติดตาม อาการ ทำได้สะดวกจนผู้ป่วยอาการดีขึ้นและหายป่วยโดยไม่ต้องรอใบส่งต่อเป็นครั้ง ๆ จากหน่วยบริการเจ้าของสิทธิ” น.ส.ฐิตินบ กล่าวและว่า กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยตั้งคำถาม ทำไมระบบการรักษาต้องเริ่มต้นด้วยการจ่ายยา มันควรมีการดูแล (treatment) แบบอื่นก่อนหรือไม่ สาเหตุอาจมาจากการที่มีแพทย์จำนวนน้อยก็ได้ ทำให้การจ่ายยา ง่ายสุด แต่ถ้าโครงสร้างในระบบการรักษาออกแบบมาดี น่าจะลดเรื่องการใช้ยาได้ ต้นปี 2566 เป็นปีแรกที่ สปสช. สบับสนุนงบประมาณเพื่อสิทธิประโยชน์ด้านป้องกันโรค แก่สายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ซึ่งกรมสุขภาพจิตให้คำปรึกษาในภาวะเร่งด่วนช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการไม่ต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันมานานกว่า 10 ปี ซึ่งสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์เป็นผู้แลนั้น มีข้อมูลว่า ในแต่ละปีประเมินว่าผู้ใช้บริการประมาณ 5 แสนสาย แต่เนื่องจากมีระบบรองรับเพียงแค่ 15 คู่สาย จึงสามารถให้บริการได้มีเพียง 1 แสนสายเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 20 เท่านั้น อาจทำให้ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหลุดร่วงไป

“ดังนั้น 3.ต้องการให้ สปสช. และกรมสุขภาพจิต พัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 ให้เป็นหน่วยแรกรับและสายปรึกษาสุขภาพจิตครบวงจร ทำงานเชิงรุกรับฟัง ให้คำปรึกษา ติดามประเมินภาวะอาการของโรค และสามารถส่งต่อหน่วยบริการทั้งรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายให้กับผู้ใช้บริการได้ เพื่อช่วยลดปัญหาการเข้าถึงการรักษาและลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุจากโรคจิตเวชให้ลดลง ซึ่งผู้ป่วยซึมเศร้าจำนวนมากกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการรักษาติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง 4.ให้บอร์ดสปสช. พัฒนาระบบ ส่งเสริมผู้ป่วยซึมเศร้าและจิตเวชเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิตโดยไม่ถูกเรียกเก็บเงินส่วนต่าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพใจควบคู่กับการใช้ยา และเตรียมพร้อมคืนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy-CBT) เป็นต้น” น.ส.ฐิตินบ กล่าว

นอกจากนี้ น.ส.ฐิตินบ กล่าวว่า 5.การดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้องในทุกระบบหลักประกันสุขภาพต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน 6.มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชที่เกี่ยวข้อง หลังมีการจัดตั้ง “คลินิกจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ” และ 7.ให้ อย.พิจารณาการขึ้นทะเบียนยาต้านซึมเศร้าที่ได้มาตรฐาน เฝ้าระวังเรื่องคุณภาพยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และติดตามการใช้ยาไม่พึงประสงค์ เพื่อให้ผู้สั่งจ่ายยาเกิดความมั่นใจในยาชื่อสามัญเพื่อการเข้าถึงยาได้มากขึ้น

ด้าน นายธนพลธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ได้เสียชีวิตจากโรคที่ตัวเองเป็น เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็ง ด้วยทุกข์จากภาวะการเจ็บป่วยของตัวเองแล้ว ยังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ความเครียดจากข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิต ทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า กลายเป็นโรคเรื้อรังซ้ำซ้อน ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำมากยิ่งขึ้น และมักเลือกหนทางฆ่าตัวตายเป็นทางออก

ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทราบปัญหาทั้งหมด และตระหนักว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต นโยบาย 30 บาทพลัส จะทำให้โรงพยาบาลเป็นของประชาชนจริงๆ และให้นโยบายโดยการตั้งวอร์ดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสังกัด สธ.เพิ่มมากขึ้นแล้ว จะให้ติดตามว่าการพิจารณายาต้านเศร้าตามข้อเสนอของกรมสุขภาพจิตติดอยู่ที่ตรงไหน หากยังต้องใช้เวลาพิจารณาอีกพอสมควร ระหว่างนั้นอาจหารือหามาตรการ หรือทำเป็นโครงการพิเศษเพื่อต่อรองราคายาให้ถูกลง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image