พัชรวาท ตั้งวอร์รูมป้องไฟป่าทุกพื้นที่อนุรักษ์ ให้ผู้นำท้องถิ่นมีส่วนร่วม

พัชรวาท มอบ ผช.รมว.ทส. ซ้อมบัญชาการผ่านวอร์รูมป้องไฟป่าทุกพื้นที่อนุรักษ์ 380 แห่ง ให้ผู้นำท้องถิ่นมีส่วนร่วม

วันที่ 25 ธันวาคม รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติของศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) หรือ วอร์รูม โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งนี้ หัวหน้าพื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้สูงสุดมีการรายงานสถานการณ์ผ่านระบบออนไลน์

รอ.รชฏฯ กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 และ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติที่จะควบคุมให้ลดพื้นที่เผาไหม้ โดยนโยบาย ปี2567 ย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ” เน้นย้ำมาตรการ “ตรึงพื้นที่” ในพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์รวมทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ ทั่วประเทศ นำไปสู่การลดพื้นที่เผาไหม้ลงร้อยละ 50 จากปี 2566 และบรรลุผลสำเร็จตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้การดำเนินการของศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน( War Room )ของกรมอุทยานฯ ขอให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับศูนย์ปฏิบัติการ ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่งหมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างประสิทธิภาพ ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือฝากดูแลเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ส่วนหน้า

ด้านนายอรรถพลฯ เปิดเผยว่า แนวทางปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่าปี 2567 เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน “ตรวจให้ไว พบให้ไว เข้าถึงไฟให้ไวที่สุด เราจะทำงานเชิงรุก ไม่ตั้งรับอีกแล้ว” โดยตั้งเป้าหมายลดไฟไหม้ให้น้อยลง ร้อยละ 50 จากปี พ.ศ.2566 สำหรับพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปี 2566 รวม 12.78 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด 17 จังหวัด 9.87 ล้านไร่ ซึ่งได้เตรียมดำเนินการ ดังนี้ 1.จัดการเชื้อเพลิงพื้นที่เสี่ยง 2.ตรึงพื้นที่กำหนดจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวัง 3.จัดตั้งวอร์รูมระดับ สบอ.และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4.จัดเตรียมและบูรณาการกำลังพลเพื่อดับไฟป่า 5.ลาดตระเวน เฝ้าระวังควบคุมพื้นที่ตลอด 24 ชม.ในฤดูไฟป่า 6.จัดระเบียบพื้นที่การเผาเกษตรกรรมในเขตป่า 7.กำหนดแผนบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ 8.จัดระเบียบการเข้า -ออก พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9.ควบคุมการเก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์ 10.มวลชนสัมพันธ์แบบเคาะประตูบ้าน (เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้เผาป่า)

Advertisement

สำหรับการจัดตั้งวอร์รูมจะบัญชาเหตุการณ์ แบบ Single Command ซึ่งจะมีการรายงานจาก วอร์รูม ระดับป่าอนุรักษ์ ฯ ถึง วอร์รูม ระดับ สบอ. และส่งมายังฯ วอร์รูม กรมอุทยานฯ รวม 380 แห่ง ทั้งนี้
ที่ประชุมได้ รับฟังแนวทางการปฏิบัติงานของ วอร์รูม 11 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่เผาไหม้มากที่สุด ปี 2566 ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติศรีน่าน 2.อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น4.อุทยานแห่งชาติสาละวิน 5.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน 6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย7. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม 8. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 9.อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) 10.อุทยานแห่งชาติแม่ปิง 11. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่ง ออส. ได้กำชับว่าวอร์รูมพื้นที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นหน่วยที่เผชิญเหตุการณ์ ทั้งนี้ขอให้มีการบูรณาการร่วมกับจังหวัดอย่างเคร่งครัด บริหารจัดการเรื่องกำลังพลเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ดับไฟป่า เงินงบประมาณ เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดไฟป่าในพื้นที่ อีกทั้งขอให้จัดระเบียบการเผาโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ฝุ่น pm2.5 มีปริมาณมากอย่าเผาพร้อมกัน ให้กระจายกันเผาคนละช่วงเวลาเพื่อลดปริมาณฝุ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image